... สาเหตุที่น้องหยกไม่ต้องการยืนเคารพธงชาตินั้นเพราะว่า “เพลงชาติไทยเป็นเพลงที่แต่งโดยเผด็จการ”
อีกทั้ง การให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ โดยมีน้องหยกร่วมรับฟังด้วย ...
คำกล่าวนี้ ดูสืบเนื่องมาจากการที่ เพลงชาติไทยฉบับปัจจุบันนั้น ถูกประกาศใช้ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของไทย อีกทั้งยังเคยขึ้นสู่อำนาจ ด้วยการ "ก่อรัฐประหาร" จนถูกมองว่าเป็น "เผด็จการทหาร"
แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว แนวคิดในการแต่งเพลงชาติไทยนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2474 แล้ว
โดยพระเจนดุริยางค์ ( ปีติ วาทยะกร ) ผู้แต่งทำนองเพลงชาติไทยได้บันทึกเอาไว้ว่า
"หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ได้มาขอให้ท่านแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่ โดยใช้ท่วงทำนองของเพลงลามาร์แซแยซ (La Marseillaise, เพลงชาติฝรั่งเศส)
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น พระเจนดุริยางค์ ถือว่าประเทศสยาม (ชื่อในเวลานั้น) มีเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้ว อีกทั้ง การร้องขอดังกล่าว ก็มิใช่คำสั่งราชการ จึงบ่ายเบี่ยง ถึงแม้จะถูกตื้อ อยู่หลายครั้ง แต่ท่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด
กระทั่งภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้ 5 วัน
หลวงนิเทศกลกิจ มาหา พระเจนดุริยางค์ แต่ในครั้งนี้ มาในฐานะ “สมาชิกคณะราษฎร” และอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ พระเจนดุริยางค์ จึงจำใจต้องแต่งให้ และแต่งสำเร็จในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 โดยใช้ท่วงทำนองของเพลง มาซูแร็ก ดอมบรอฟสกีแยกอ (Mazurek Dąbrowskiego, เพลงชาติของสาธารณรัฐโปแลนด์)
พระเจนดุริยางค์ขอร้องหลวงนิเทศกลกิจว่า ขอให้ปกปิดชื่อของผู้แต่งเพลงเอาไว้ แต่ชื่อของท่านกลับถูกเปิดเผยในภายหลัง ทำให้พระเจนดุริยางค์ ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรง .... ถึงแม้ว่าในภายหลัง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย จะชี้แจงว่า ท่านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากราชการ !!!
สำหรับในส่วนของเนื้อร้อง นั้น ฉบับแรกสุด แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ซึ่งได้รับการทาบทามจากคณะผู้ก่อการ เสร็จช่วงเดือนสิงหาคม 2475 แต่ฉบับนี้ ไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมีการจัดประกวดเพลงชาติสยามขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2477 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือแบบไทยเดิม และแบบสากล
คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติ ตัดสินใจ ไม่เสนอเพลงชาติแบบไทยเดิม เสนอเพียงแบบสากลต่อคณะรัฐมนตรี
เนื่องด้วย เห็นว่า หากมีเพลงชาติ 2 แบบจะทำให้ไม่มีความ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคณะกรรมการเลือกทำนองของพระเจนดุริยางค์ แต่เนื้อร้อง เลือกฉบับปรับปรุงของขุนวิจิตรมาตรา และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง
คณะรัฐมนตรี ได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477
อย่างไรก็ดี เพลงชาติฉบับนี้ มีความยาวเกินไป จึงได้มีการแก้ไขให้สั้นลง และต่อมาใน พ.ศ. 2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” จึงมีการประกวดเนื้อร้องใหม่อีกครั้ง และปรากฏว่า เนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นช่วงที่ “คณะราษฎร” ยังคงมีอำนาจปกครองประเทศอยู่ และ พ.ศ. 2482 ถึงแม้ว่าพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศของจอมพล ป ในเวลานั้น ) จะเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้นำของคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 ของไทย โดยมีคณะราษฎร เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้ง นายปรีดี พนมยงค์ในเวลานั้น ก็เป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลชุดนี้ โดยมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดังนั้น หากจะกล่าวว่า เพลงชาติไทยถูกแต่งโดยเผด็จการ ก็คงต้องถาม คุณบุ้ง เนติพร ทะลุวังแล้วว่า ..... ?
เธอเห็นคณะราษฎรเป็นคณะเผด็จการ ยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังทหารด้วยหรือไม่ ?
หรือเป็นเพียงแค่ "ความไม่รู้" ของตัวคุณบุ้ง เนติพร และกลุ่มทะลุวังเท่านั้น ?
บทความโดย: กุญชร เชี่ยววารี
ข้อมูลเพิ่มเติม
- วันที่ 14 ก.ย. 2485 คนไทยยืนตรงเคารพธงชาติ เป็นครั้งแรก https://www.misc.today/2020/09/National-anthem.html
- เนื้อเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม”
https://www.misc.today/2022/04/music-psalm.html