ประมาณ : (คำกริยา) กะ หรือคะเน ให้ใกล้เคียงจำนวนจริง หรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).
คำว่า “ประมาณ” เมื่อใช้เกี่ยวกับการบอกจำนวนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีหลักการใช้ดังนี้ -
๑. ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่นอนได้
๒. ตัวเลขหรือจำนวนที่ประมาณต้องเป็นจำนวนเต็ม หรือที่เรียกกันว่า “ตัวเลขกลมๆ” คือ จำนวนสิบ จำนวนร้อย จำนวนพัน เป็นต้น โดยไม่มีจำนวนที่เป็นเศษต่อท้าย
** โปรดสังเกตว่า ตัวเลขราคาค่าก่อสร้างบ้าน ตามที่พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่าง คือ “๓ ล้านบาท” นี่คือตัวเลขกลม ๆ .... ไม่ใช่ตัวเลขที่มีเศษ เช่น “๓ ล้าน ๔ แสน ๕ หมื่น ๖ พัน ๗ ร้อย ๘๘ บาท ๙๐ สตางค์” - ถ้าแบบนี้คือตัวเลขที่แน่นอน ไม่ใช่ประมาณ
๓. กรณีที่ระบุตัวเลขที่แน่นอนได้ ไม่ต้องใช้คำว่า “ประมาณ”
ตัวอย่าง -
- ในประเทศไทยมีวัดประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด ... 👍 ถูก
เหตุผล: ๓๐,๐๐๐ เป็นตัวเลขกลม ๆ ไม่มีเศษ ไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอน จึงต้อง “ประมาณ”
- ในประเทศไทยมีวัดประมาณ ๓๒,๑๒๕* วัด | 👎 ผิด
เหตุผล: ๓๒,๑๒๕ เป็นตัวเลขที่แน่นอนแล้ว ถ้าไม่แน่นอนจะระบุอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อเป็นตัวเลขที่แน่นอน จึงไม่ต้อง “ประมาณ” แต่บอกไปตรง ๆ ได้เลยว่า
- ในประเทศไทยมีวัด ๓๒,๑๒๕* วัด
มีเสียงบ่นว่า สื่อมวลชน ใช้คำว่า “ประมาณ” พร่ำเพรื่อ
หมายถึง สื่อมวลชนไม่เข้าใจว่า กรณีอย่างไรจึงควรใช้ “ประมาณ” และกรณีอย่างไรไม่ต้องใช้คำว่า “ประมาณ” ??
เรื่องนี้เข้าใจว่า มีสาเหตุมาจาก การเข้าใจ หรือตีความคำว่า “ประมาณ” แตกต่างกัน กล่าวคือ -
๑. ความหมายเดิม “ประมาณ” หมายถึง ไม่สามารถระบุตัวเลข หรือจำนวนที่แท้จริงลงไปตรง ๆ ได้ จึงต้องบอกเพียงจำนวนประมาณ คือ จำนวนสิบ จำนวนร้อย จำนวนพัน เป็นต้น
.... โดยไม่มีจำนวนที่เป็นเศษต่อท้าย = ต้องประมาณ เพราะไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนได้
๒. ความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ “ประมาณ” หมายถึง ตัวเลขจำนวนใด ๆ ก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร ?!?! แต่ตัวเลขนั้นยังไม่แน่นอนว่า จะถูกต้องตามเป็นจริงหรือไม่ ? จึงต้องประมาณ ....
= ต้องประมาณ เพราะจำนวนที่ระบุยังไม่แน่นอนว่าจะถูกต้องหรือไม่ ?
ข้อสังเกต :
การใช้คำว่า “ประมาณ” ตามความเข้าใจของคนรุ่นใหม่นั้น มีข้อแย้งได้มาก เช่นในคำว่า “หญิงอายุประมาณ ๓๓ ปี” ....
ถ้ายังไม่แน่นอนว่า อายุจริง ๆ คือเท่าไร แล้วทำไมจึงระบุลงไปว่า ๓๓ ?
เอาตัวเลข ๓๓ มาจากไหน?
ถ้าตอบว่า ก็ “ประมาณ” เอาอย่างไรเล่า ...
ก็ต้องถามอีกว่า ทำไมจึงไม่ประมาณ ๓๒ หรือ ๓๔ หรือ ๓๑ หรือ ๓๕ เล่า ?
ทำไมจึงประมาณเฉพาะ ๓๓ เล่า
ในเมื่อ ทุกจำนวนก็ล้วนแต่ยังไม่แน่นอนทั้งสิ้น ?
กรณีอย่างนี้ ตัวเลขประมาณตามหลักการใช้ก็ควรจะเป็น -
อายุประมาณ ๓๐ ถึง ๔๐ (ตัวเลขกลม ๆ)
จะระบุตัวเลขชัด ๆ ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้อายุจริง ....
ทำไมจึงไม่ศึกษาให้เข้าใจชัดแจ้งว่า คำว่า “ประมาณ” นี้มีหลักการใช้อย่างไร ทำไมจึงใช้ไปตามที่คิดเอาเอง ...
กรณีเช่นนี้ทำให้นึกถึงคำว่า “จำวัด”
“จำวัด” ความหมายเดิมคือ “พระนอนหลับ” (sleep)
แต่คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาให้เข้าใจชัดแจ้ง ไปตั้งความเข้าใจเอาเองว่า “จำวัด” คือ “อยู่ประจำวัด” (stay)
เรื่องของเรื่องคือ ไม่ศึกษาว่า “จำวัด” คือ sleep
แต่ไปหลงเข้าใจเอาเองว่า “จำวัด” คือ stay
จำวัด คือ sleep ไม่ใช่ stay จำพรรษา ถูกต้องกว่า
((( https://www.misc.today/2024/04/sleep-not-stay.html ))แล้วก็ -ยอมรับผิดไม่เป็น กลับยืนยันว่า ที่ตนเข้าใจว่า “จำวัด” คือ stay นี่แหละถูก ...
แล้วก็พากัน "ดันทุรัง" ใช้ไปตามที่ตนหลงเข้าใจอยู่ในทุกวันนี้ จนคำผิดกำลังจะกลายเป็นคำถูก ..
แก้ง่ายนิดเดียว คือ ศึกษาให้รู้ความหมายที่ถูกต้อง แล้วใช้ให้ถูกต้อง ....
แต่ไม่ทำ ไม่เอา . . . เสียเกียรติ ?
หารู้ไม่ว่า ใช้คำผิดความหมาย นั่นแหละที่ไม่เป็นเกียรติยศอะไรเลย !!!
หลักวิชา ถ้าไม่ศึกษาถ่ายทอดไว้ให้แม่นยำ ย่อมเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน
และอาจนำไปสู่ความวิบัติได้ในที่สุด
และอาจนำไปสู่ความวิบัติได้ในที่สุด
.........................................................
ถ้าใช้ชีวิตอย่างประมาท
ก็จะมีแต่ความพินาศเป็นประมาณ
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
๑๕:๒๒
.........................................................
หมายเหตุ: ตัวเลข *๓๒,๑๒๕ วัด เป็นจำนวนสมมุติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง