นายพันเอก พระพิเรนทรเทพ
คือที่มาของคำว่า " เล่นพิเรน"
บทความโดย : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
3 มกราคม 2023
3 มกราคม 2023
โดยทหารสยาม ที่คุมปืนใหญ่อยู่ตามป้อมต่างๆริมแม่น้ำไม่ทราบว่าจะป้องกันอย่างไร ? เพราะแค่ได้ยินแต่เสียงเรือวิ่งผ่านแต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น?!
ตัวผู้บัญชาการรบฝ่ายสยาม ผู้มีสัญชาติเดนมาร์ก ชื่อนายพลริชลิว หรือชื่อไทยว่า นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธิน หลังจากสำรวจ ประเมินผลการรบพบว่า เรือรบฝ่ายไทยที่เหลือรอดสองลำ ยังมีสภาพพอจะทำการรบได้ จึงสั่งให้วิ่งตามไป กะจะใช้ความมืดกำบังตัวเป็นอาวุธวิ่งชนเรือฝรั่งเศสแบบใครดีใครอยู่ ... แล้วตนเองรีบสั่งให้เรือยนต์เข้าฝั่ง ที่เมืองปากน้ำ แล้วให้รถไฟจัดขบวนพิเศษ วิ่งนอนสต๊อป เข้าสู่หัวลำโพงทันที ...
ครั้นถึงแล้ว ก็ตรงไปที่เรือพระที่นั่งมหาจักรี กะว่าจะนำไปร่วมชนเรือฝรั่งเศสที่ทอดสมอรวมกัน ๓ ลำ อยู่หน้ากงสุลที่บางรักด้วย ดีแต่ว่า เมื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแล้ว พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีรับสั่ง "ห้าม" และให้ตัวท่าน รีบลงเรือยนต์ไปเบรคเรือรบไทยทั้งสองลำ ที่กำลังวิ่งทวนน้ำขึ้นมาให้ทันการณ์
ผลการปะทะที่เล่ากันจากปากต่อปาก ในตอนเช้าได้สร้างอารมณ์ค้าง ให้แก่คนไทยใจนักเลงมากโข ส่วนหนึ่งได้แสดงความคิดออกมาดังๆว่า ตนมีวิชาไสยศาสตร์ที่จะสู้กับฝรั่งเศส เช่น
โม้ว่าจะล่องหนหายตัว ไปก่อวินาศกรรมบนเรือฝ่ายโน้นบ้าง ...
หรือจะใช้วิชาอยู่ยงคงกระพันขึ้นไปปะฉะดะให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง
แต่ มีเพียงคนเดียว ที่มีแนวคิดที่พอจะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง
คือ ...
พระตำรวจหลวง ผู้มีราชทินนามว่า
"พระพิเรนทรเทพ"
"พระพิเรนทรเทพ"
พระพิเรนทรเทพ คิดอาสาสมัครออกรบกับฝรั่งเศส โดยจะจัดตั้ง และฝึกหัดหน่วยจู่โจมพิเศษขึ้น เพื่อให้ดำน้ำ ไปเจาะเรือรบฝรั่งเศส ให้จม
พระพิเรนทร์ฯ ได้จัดการฝึกหัดบ่าวไพร่ และผู้อื่นที่อาสาสมัครในคลองหน้าบ้านของตนทุกวัน หวังให้มีความชำนาญ ในการดำน้ำได้อึดเป็นพิเศษ ระหว่างการฝึกพบว่า บางคนดำน้ำได้ไม่ทันไรก็โผล่ พระพิเรนทร์จึงคิดทำไม้ถ่อมาค้ำคอไว้ไม่ให้ขึ้นมาเร็วเกินไป จนกระทั่งเกิดมีผู้ขาดใจตายจากวิธีนี้ ความคิดของพระพิเรนทร์ที่จะจัดตั้งหน่วยจู่โจมพิเศษจึงเป็นอันต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย ...
หลังจากนั้นแล้ว เมื่อชาวบ้านเห็นใครอุตริ ทำอะไรแผลงๆ ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ ก็จะเปรียบเปรยว่า "เล่นอย่างพิเรนทร์" ซึ่งต่อมา คำได้กร่อนเป็น "เล่นพิเรนทร์" หรือ "เล่นพิเรน" อันเป็นคำพูดที่ติดปากมาจนทุกวันนี้....
ต้นเรื่องผู้เขียนเรื่องนี้ขึ้น คือนายแพทย์นวรัตน์ ไกรฤกษ์ ซึ่งได้ฟังมาจากบิดา คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) อีกทีหนึ่ง และได้เสริมไว้ด้วยว่า
“ความจริงความคิดอันนี้ อยู่ข้างจะทันสมัยมากในยุคนั้น เพราะในสงครามปัจจุบัน ต่างประเทศก็ได้จัดหน่วยรบกล้าตายเรียกว่า หน่วยคอมมานโด มีทั้งรบบนบก และในน้ำ ทหารที่ออกทำการรบใต้น้ำเขาเรียกว่า "มนุษย์กบ”