มีคนพูดถึง "การเคารพความคิดเห็นของกันและกัน" อยู่เนือง ๆ ในกรณีที่มีใครสักคน กำลังแสดงความคิดเห็นเรื่องใดออกมา ...แล้วมีอีกคนโต้แย้ง คัดค้าน หรือแสดงความไม่เห็นด้วย กับความคิดเห็นนั้น ๆ ... แล้วก็จะมีเสียงดังออกมาว่า คุณ "ควรเคารพความคิดเห็นของกันและกัน"
ควรสังเกตด้วยว่า
- ข้อเรียกร้องให้เคารพความคิดเห็นของกันและกัน นิยมใช้ในกรณีที่มีความเห็นแย้งกับความคิดเห็นนั้น ๆ - เท่านั้น
- ในกรณีที่มีความเห็นสนับสนุน คือ "เห็นด้วย" กับความคิดเห็นนั้น ๆ และแสดงความชื่นชม ก็จะ "ไม่มี" เสียงพูดว่า-ควรเคารพความคิดเห็นของกันและกัน
ก็เลยจับทางได้ความว่า
คำว่า “ควรเคารพความคิดเห็นของกันและกัน” นั้น มีความหมายว่า
อย่ามาคัดค้านโต้แย้งความคิดของข้าพเจ้า ... ต้องปล่อยให้ข้าพเจ้า แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และ ท่านต้องเห็นด้วยกับความคิดเห็นของข้าพเจ้า ห้ามเห็นแย้ง !!!
.... ต้องอย่างนี้ จึงจะถือว่าเป็นการเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ??
ผมคิดว่าถ้าคิดแบบนี้ ก็หลงทางแล้วครับ ....
... ความคิดเห็นใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่อยากให้ใครแตะต้อง จงเก็บไว้ในห้องส่วนตัว
คิดคนเดียว เขียนคนเดียว อ่านคนเดียว..... ปลอดภัยที่สุด
คิดคนเดียว เขียนคนเดียว อ่านคนเดียว..... ปลอดภัยที่สุด
.... หากจะนำเสนอต่อ "สาธารณะ" นั่นหมายถึง ต้องพร้อมที่จะ “ฉะ” กันด้วยเหตุผล
ผมว่าเราต้องทำความเข้าใจกันให้ถูก และให้ตรงกันก่อนว่า “เคารพความคิดเห็นของกันและกัน” หมายความว่าอย่างไร คือจะให้ทำอย่างไร กับความคิดเห็นของกันและกัน
เวลานี้ ..... สิ่งที่เรายังทำกันไม่เป็น ก็คือ
หลักการ และมารยาทในการแสดงความคิดเห็น-ต่อความคิดเห็น ....
- คนไทยเรา ยังยึดติดอยู่กับตัวบุคคล .... เราให้น้ำหนักกับเจ้าของความคิดเห็นมากกว่าตัวความคิดเห็น ....
หลักที่ควรจะเป็น คือ ใครจะเป็นคนคิด ไม่สำคัญ สำคัญที่คิด ว่าอย่างไร
..แต่...ของไทยเราตรงกันข้าม ... คือ
ความคิดเห็นอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญที่ใครเป็นคนคิด ...
ตรงกันข้าม
ถ้าคนคิดเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ แม้ความคิดจะประเสริฐเลิศล้ำเพียงไร ... เราก็จะมองเมิน
.... นี่คือความผิดเพี้ยนของหลักการ
สิ่งที่ตามมาจากการยึดตัวบุคคลก็คือ "ความเกรงใจ"
..... แม้ความคิดเห็นนั้นจะผิดพลาด แต่เพราะเกรงใจ เราก็จะไม่กล้าทักท้วง ฝ่ายเจ้าของความคิด เมื่อไม่เห็นว่ามีใครทักท้วง ก็จะเข้าใจไปว่า ความคิดเห็นของตนถูกต้องดีแล้ว ...ทั้ง ๆ ที่ มันผิดพลาด หรือมันบกพร่อง
ท่าที-อันเนื่องมาจากความเกรงใจ-เช่นนี้ ก็จึงไปสนับสนุนความคิดเห็นผิด ๆ ให้ดำรงความผิดอยู่ต่อไป ไม่มีโอกาสที่จะปรับแก้ให้ถูกต้อง .....
มารยาทให้การแสดงความคิดเห็น...
ถ้าเอาความคิดเห็น ที่ปรากฏทางเฟซบุ๊กเป็นข้อมูล ก็บอกได้เลยว่า เรายังขาดมารยาทที่ดีกันอยู่มาก ...
สรุป เป็นภาพรวมก็คือ
- ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
- แยกแยะประเด็นปัญหาไม่เป็น จับประเด็นไม่ถูก
- เอาเรื่องส่วนตัวมาวิจารณ์ แทนที่จะพูดถึงตัวปัญหา
แยกไม่เป็นว่า ส่วนไหนเป็นข้อเท็จจริง ส่วนไหนเป็นความคิดเห็น ส่วนไหนเป็นหลักการหรือหลักวิชาที่เขายกมาให้ดู ส่วนไหนเป็นความคิดเห็นของเขาเอง ....
เรามักจะแยกไม่เป็น ส่วนมากไปจับเอาว่า หลักการ หรือหลักวิชา ที่เขายกมาให้ดูนั้นเป็นความคิดเห็นของเขา .... เขาเพียงแต่ยกหลักการ หรือหลักวิชาบางประการ มาให้ดู ไม่ได้แปลว่าเขาเห็นด้วยกับเรื่องนั้น
ที่ผิดพลาดมาก ก็คือ เรามักไม่ได้แยกตัวเขา ออกจากความคิดของเขา ไม่ชอบความคิดของเขา ก็เลยไม่ชอบตัวเขาไปด้วย
.... ลงจากเวทีแล้ว ก็ไม่มองหน้ากัน ออกจากห้องประชุมแล้วก็ไม่พูดกัน ... ตายก็ไม่เผาผีกัน....
มาจากท่าทีผิด ๆ แบบนี้-แยกตัวเขาออกจากความคิดของเขาไม่เป็น
ความคิดเห็นแตกต่างกันได้
ขัดแย้งกันได้ด้วยเหตุด้วยผล
แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมสังคม เราเป็นเพื่อนกัน เคารพนับถือกัน ให้เกียรติกันตามฐานะอันควร ... พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมต่อกันตลอดเวลา...
.
....ตรงนี้แหละที่เรายังทำกันไม่ค่อยเป็น....
แม้ในทางการเมือง ก็ยังทำกันไม่เป็น ....
เรื่องอะไรที่ กู-พรรคของกู ค้านในสภา แม้สภาจะเห็นชอบด้วยกับเรื่องนั้นไปแล้ว กูก็จะไม่เอาด้วย กูจะไม่ร่วมมือด้วย ....
นี่คือการไม่เคารพความคิดเห็นของส่วนรวม-ด้วยอารมณ์ส่วนตัว
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖
๑๘:๒๙