นอกจากนี้ ยังพบ ภูเขาไฟโบราณ ในพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ใน ยุคดีโวเนียน (อังกฤษ: Devonian) ที่มีอายุเก่าแก่ ถึง 374 ล้านปีมาแล้ว โดยทราบด้วยวิธีจากการหาอายุจาก ตัวอย่างหินด้วยวิธี Ri-St และ Sm-Nd Isotopic method of Dating (*)
นอกจากนี้ ยังพบที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และที่ลำปาง บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ (Basalt) ส่วนบริเวณลพบุรี บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดไรโอไรต์และหินแอนดีไซต์
ลักษณะของปล่องภูเขาไฟโบราณ หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศ หรือ ภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นเป็นรูปวงกลม มีเนินเขาวางตัวตามเส้นรอบวง คล้ายกับรูปเสี้ยวพระจันทร์ แต่สำหรับบริเวณ จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่พบหินภูเขาไฟที่ครอบคลุมเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างคล้ายกับบริเวณจังหวัดลำปาง บุรีรัมย์ หรือลพบุรี
ดังนั้นจึงคาดว่าไม่น่าจะมีปล่องภูเขาไฟโบราณในบริเวณดังกล่าว แต่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปล่องได้ ซึ่งเป็นหลุมยุบ (Sink Hole) ที่เกิดในหินปูน (จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีหินปูนมาก) ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปล่องภูเขาไฟโบราณ
ภาพ : ภาพมุมสูงของวนอุทยานภูเขาไฟกระโดงหรือภูกระโดง
เดิมชาวบ้านเรียกเขากระโดงว่า พนมกระดอง ตั้งอยู่ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มองเห็นปากปล่องภูเขาไฟชัดเจน ล้อมรอบด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และยังพบมีโบราณสถานสมัยขอม และสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและที่เคารพของชาวบ้านเขากระโดงอีกด้วย
*สุพร อนทโสภา, เทคนิคการวัดอายุหินโดยวิธี Rb-Sr and Sm-Nd Radiogenic Isotopes ของหินภูเขาไฟบริเวณจังหวัดเลย (รายงานการวิจัย) , 2538 http://library.dmr.go.th/elib/
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ ทรัพยากรธรณี ได้ที่
Facebook | https://www.facebook.com/DMRTH
Facebook | https://www.facebook.com/DMRTH