มวยทะเล ( Muay Talay ) เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เล่นกันมาตั้งแต่สมัยใด แต่พบว่ามีการเล่นมวยทะเลกันแล้วในปี พ.ศ. 2449
โดยมวยทะเล เป็นกีฬาที่จัดให้นักเรียนนายร้อยของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในสมัยนั้น สันนิษฐานว่ามวยทะเลดัดแปลงมาจากการชกมวยไทย แล้วนำมาเล่นกันบริเวณชายหาดหรือในทะเล โดยปรับเปลี่ยนวิธีเล่น โดยให้ผู้ชกนั่งบนท่อนซุงมีขาตั้งวางสูงจากพื้นน้ำ แล้วให้ชกต่อยกันจนกว่าฝ่ายใดจะตกทะเล จึงเรียกว่า “มวยทะเล”
ทหารเรือนิยมจัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยทะเล เพราะได้ฝึกการต่อสู้และฝึกการว่ายน้ำเอาตัวรอดด้วย ชาวบ้านทางภาคใต้นิยมเล่นกันเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษสงกรานต์ และงานรื่นเริงต่าง ๆ เล่นกันเฉพาะในหมู่ผู้ชายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในปัจจุบันยังมีการเล่นกีฬานี้อยู่ทั่วไป
มวยทะเลมีกติกาอยู่ว่า การชกต่อยกันให้ชกกันโดยกำหมัด ห้ามตบหรือผลักดัน ผู้เล่นคนใดเสียการทรงตัว แต่สามารถเกี่ยวเสาไม้พาดไว้ได้ ไม่ตกจากเสาไม้พาด จะอนุญาตให้เล่นต่อไปได้ แต่ถ้ามือหรือเท้าของผู้เล่นถูกพื้นดินหรือพื้นน้ำจะถือว่าตกจากเสาไม้พาดก็ถือว่าแพ้
นอกจากนี้ กีฬามวยทะเลจะมีกรรมการอย่างน้อย 3 คน โดยกำหนดให้ 2 คนประจำอยู่ที่พื้นดินหรือพื้นน้ำข้างผู้เล่นฝ่ายละคน เพื่อคอยรองรับเมื่อผู้เล่นจะตกจากเสาไม้พาด เป็นการช่วยป้องกันอันตรายและคอยดูการเล่นที่ผิดกติกา อีกคนหนึ่งเป็นกรรมการตัดสิน
กีฬามวยทะเล มีคุณค่ามาก เพราะทำให้คนเล่นมีร่ายกายแข็งแรง ได้ฝึกการทรงตัว อีกทั้งยังฝึกการใช้ไหวพริบความว่องไวในการหลบหลีกป้องกันตัวไม่ให้พลาดตกลงมา ในเชิงสังคมนั้น แม้มวยทะเลจะเป็นกีฬาการต่อสู้แต่ก็ไม่รุนแรงจนเกินไป ผู้เล่นมีโอกาสเห็นอกเห็นใจกัน ฝึกการให้อภัย และฝึกรับผิดชอบต่อหน้าที่
(จากหนังสือ กีฬาพื้นเมืองไทยภาคใต้ ของ รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต 2549)
ภาพโดย : khaophuket.com / ทต.ฉลอง
Tweet