หมา หรือ ภาชนะตักน้ำ ถ้าทำมาจากต้อหมาก (กากหมาก) ก็เรียก “หมาต้อ” ถ้าทำมาจากใบจากก็เรียก “หมาจาก” ถ้าทำมาจากกากหลาชะโอนก็เรียก “หมาต้อหลาโอน”
โดยทั่วไปโดยรวม เรียกว่า “หมาตักน้ำ” สันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายู คำว่า “ติหมา” หรือ “timba” หมายถึงภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยกากหมาก
ทุกวันนี้ หมาตักน้ำ ยังเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่นทางภาคใต้ เพราะทำมาจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีคุณสมบัติเหมาะแก่การนำมาใช้งานได้อย่างดี มีน้ำหนักเบา โดยเฉพาะเมื่อหย่อนหมาตักน้ำ ลงแตะบนผิวน้ำบ่อ หมาจะตะแคงแล้วคว่ำตัวได้เอง ไม่ต้องออกแรงกด ทำให้ตักน้ำได้ง่าย แสดงให้เป็นถึงภูมิปัญญาที่เข้าใจถึงคุณลักษณะพิเศษของธรรมชาติ
นอกจากชาวบ้านใช้ตักน้ำบ่อแล้ว ยังใช้วิดน้ำในเรือ หรือใช้ตักน้ำแทนขันน้ำได้อีกด้วย
ในเชิงช่าง ในกรณีที่หมาทำจากใบจาก ชาวบ้านจะตัดยอดอ่อนที่มีใบรวมกันอยู่หนาแน่นมาตัดเอาแต่ใบที่มีขนาดพอเหมาะมาตากแดดให้หมาด ๆ เพื่อให้สอดใบได้สะดวก เวลาจะสอดต้องคลี่ใบข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคน-ปลายไปเรื่อย ๆ ให้ปลายทั้งสองข้างมีขนาดเท่ากัน แล้วรวบปลายทั้งสองข้างเข้าหากันเพื่อผูกติดเป็นที่ถือ
การผูกปลายมีสองวิธี คือ ถ้าเอาปลายทั้งสองผูกไขว้กันจะเรียกภาชนะนั้นว่า “หมาโผ้” (หมาตัวผู้) แต่ถ้าเอาปลายสองข้างมาสอดผูกแนบกันแล้วมัดรวมจะเรียกว่า “หมาเหมีย” (หมาตัวเมีย) และเพื่อให้มีความทนทาน ก็ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจากแต่ละใบตามแนวขวาง
..ปัจจุบันแม้จะมีภาชนะตักน้ำสมัยใหม่ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมโดยใช้วัสดุอื่น คือ พลาสติกและสังกะสีหรืออะลูมิเนียม แต่ชาวบ้านในภาคใต้จำนวนมาก ก็ยังนิยมใช้หมากันแพร่หลายอยู่มาก โดยเฉพาะในชุมชนชนบททั่วไป
(อ้างอิงจาก หนังสือภูมิปัญญาทักษิณ ของ ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง)
(ภาพจาก museumthailand)
สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university