รัฐธรรมนูญฉบับ ร.๗ ไม่เป็นประชาธิปไตย ?
การต่อเรือในสมัยโบราณ จะเริ่มจาก นำไม้ซุงทั้งต้นมาเลื่อยปีกไม้ออกทั้ง 4 ด้าน ตัดแต่งหัวท้ายให้เป็นรูปร่างคล้ายเรือ ... แต่ยังไม่ได้ขุด และตกแต่งให้เป็นเรือ ซึ่งซุงที่กำลังจะเป็นเรือท่อนนี้ เรียกว่า “โกลน” ใครที่ติซุงท่อนนี้ว่า "ไม่สวย ไม่น่าจะลอยน้ำได้" ก็คือ คนที่ “ติเรือทั้งโกลน”
เมื่อปัญญาชนท่านหนึ่งได้บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เตรียมพระราชทานนั้น มีแต่เพียงนายกรัฐมนตรี อำนาจยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์เช่นเดิม ไม่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ... ท่านคงลืมไปว่า รัฐธรรมนูญที่เตรียมพระราชทานนี้ ยังเป็นแค่ “โกลน” ซึ่งยังต้องขุดและตกแต่งอีกมาก กว่าจะเป็นเรือที่สมบูรณ์
ปรีดี พนมยงค์ เอง ได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชกระแสว่า พระองค์ประสงค์พระราชทานธรรมนูญการปกครองทีละขั้นๆ (แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิปรีดี พนมยงค์: 2535, หน้า 18 )
... ทำไมต้องพระราชทานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ? ดูตัวอย่างการเลิกทาส สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิครับ พระองค์ทรงค่อยๆ ปรับ ใช้ความละมุนละม่อม ค่อยๆ เลิกทีละขั้น จนสามารถเลิกทาสได้อย่างสมบูรณ์ ได้โดยไม่ต้องเกิดความวุ่นวาย อย่างในบางประเทศ ดังเช่น การเลิกทาสที่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง (The American Civil War)
ถ้าหากว่า เราวิพากษ์เหตุการณ์หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรลูกทาสลูกไทย” โดยไม่ดูเหตุการณ์จนจบถึงขั้นตอนสุดท้ายของการเลิกทาส ก็คงบอกว่า “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรลูกทาสลูกไทย” ไม่ใช่การเลิกทาสที่แท้จริง ....
ย้อนกลับมาที่การเตรียมการพระราชทานธรรมนูญการปกครอง
อย่าลืมว่า พระมหากษัตริย์ เอง ก็ทรงต้องคานอำนาจกับกลุ่มขุนนาง การปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมามากมาย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงใช้ความระมัดระวัง ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะ "อำนาจเป็นสิ่งหอมหวลเย้ายวนใจ" หากปล่อยวางโดยปราศจากมาตรการที่ดีรองรับ ต้องเกิดการชิงอำนาจ ของกลุ่มขุนนาง ในแผ่นดินอย่างแน่นอน ซึ่งประวัติศาสตร์ก็บอกเราไปแล้วว่า ...
หลังจากคณะราษฎรยึดอำนาจไปจากสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว "ศึกชิงอำนาจ" ภายในกลุ่มคณะราษฎรก็เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง
ดังนั้นการที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ ร.7 ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยไม่ได้พิจารณาพระราชประสงค์ ในการพระราชทานธรรมนูญการปกครองทีละขั้น จึงเป็นการ “ติเรือทั้งโกลน” โดยมองข้อมูลไม่ครบถ้วนนั่นเองครับ
เรียบเรียงโดย : ต.ตุลยากร
สำนวน “ติเรือทั้งโกลน” หมายถึงการติสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น นวนิยายเรื่องนี้เพิ่งจะเริ่มได้เพียง ๒ ตอน เธอก็ว่าไม่ได้เรื่องแล้ว อย่าติเรือทั้งโกลนซิเธอ. บางทีก็ใช้ว่า “ติเรือทั้งโกลน ติโขนไม่ได้ทรงเครื่อง” เช่น รอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาร่างเสร็จก่อนดีไหม อย่าเพิ่ง ติเรือทั้งโกลน