ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และ พฤษภาคม หรือยาวไปจนถึงมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงมะนาวแพง เพราะมะนาวเป็นพืชที่ต้องการน้ำในการให้ผล บางปี มะนาวราคาสูงถึงมากกว่าลูกละ ๑๐ บาทก็มี
และนี่ก็เป็นวัฎจักรของเกษตรกรรมตามฤดูกาล ที่จริงเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เพราะถึงแม้ราคามะนาวจะแพงแต่ก็ไม่มีผลผลิตออกมาขาย ซึ่งเมื่อถัวเฉลี่ยกับช่วงที่มะนาวราคาถูก ต้องเอามาใส่ถุงใบใหญ่ๆเร่ขาย ราคามะนาวที่สูงขึ้นตามฤดูกาลก็เป็นเรื่องที่ควรยอมรับได้ ? ...
จะว่าไปแล้ว กลิ่นและรสเปรี้ยว ในอาหารไทยไม่ได้มีเฉพาะที่ได้มาจากมะนาวเท่านั้น เพียงแต่มะนาวเป็นที่นิยมมากกว่า หาได้ง่าย มีกลิ่นหอมของผิว (แต่ต้องใช้อย่างพอเหมาะ) และนำมาใช้สะดวก
รสเปรี้ยวและกลิ่นที่ใช้ในการปรุงอาหารไทยนั้นมีหลากหลายมากกว่ามะนาว แน่นอนว่า ไม่อาจมาแทนที่มะนาวได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าพืชพรรณเหล่านี้ล้วนมีรสชาติ มีมนต์เสน่ห์สำหรับปรุงอาหารเฉพาะตัว อาทิ ...
จะว่าไปแล้ว กลิ่นและรสเปรี้ยว ในอาหารไทยไม่ได้มีเฉพาะที่ได้มาจากมะนาวเท่านั้น เพียงแต่มะนาวเป็นที่นิยมมากกว่า หาได้ง่าย มีกลิ่นหอมของผิว (แต่ต้องใช้อย่างพอเหมาะ) และนำมาใช้สะดวก
รสเปรี้ยวและกลิ่นที่ใช้ในการปรุงอาหารไทยนั้นมีหลากหลายมากกว่ามะนาว แน่นอนว่า ไม่อาจมาแทนที่มะนาวได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าพืชพรรณเหล่านี้ล้วนมีรสชาติ มีมนต์เสน่ห์สำหรับปรุงอาหารเฉพาะตัว อาทิ ...
- มะขาม .... ใช้ได้ทั้งฝักสด มะขามสุกที่เก็บไว้ในรูปมะขามเปียกเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี หรือ ใบมะขามที่มีรสเปรี้ยวอ่อน ปรุงอาหารที่ให้รสเปรี้ยวหลากหลาย มะขามสด มักใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริก เช่น น้ำพริกมะขามสด ซึ่งให้ทั้งรสเปรี้ยว ฝาด มะขามเปียก ให้รสเปรี้ยวนุ่มนวล มีรสหวานแทรกกว่ามะขามสด ใช้ปรุงอาหารได้สารพัด เช่นแกงส้ม ต้มส้มต่างๆ ยอดมะขามอ่อน มีรสเปรี้ยวอ่อนๆ ใช้สำหรับต้มโคล้ง
- มะดัน... เปรี้ยวแหลมจัดกว่ามะนาว มีกลิ่นเฉพาะ มะดัน มักใช้ทำน้ำพริก หรือ อาหารประเภทต้ม เช่น ต้มกะทิสายบัว โดยอาจใส่ทั้งลูก หรือฝานเอาเนื้อใส่บางส่วน
- มะม่วง ... มีรสเปรี้ยวมากน้อยตามแต่ละสายพันธุ์ หรือความแก่อ่อน ใช้ทำน้ำพริก แต่ที่นิยมมากคือใช้ในยำ หรือผสมในน้ำปรุงรสยำ เช่น ยำปลาดุกฟู
- มะเฟือง ใช้ปรุงรสเปรี้ยวของน้ำพริก หรือยำ
- สับปะรด ให้รสเปรี้ยวปนหวานแล้วแต่สายพันธุ์ นิยมนำมาปรุงในแกงส้ม แกงคั่ว ต้ม รวมทั้งเป็นส่วนประกอบของอาหารอื่นๆที่ต้องการรสเปรี้ยวอ่อนๆปนรสหวาน เช่น ข้าวอบ เป็นต้น
- มะกอก มีนสเปรี้ยวไม่จัด แต่มีกลิ่นหอม เมื่อกินแล้วจะมีรสหวานน้อยๆ ติดลิ้น มีความฝาดจากเปลือกผสมด้วย นิยมปรุงในส้มตำ ยอดมะกอกอ่อนให้รสเปรี้ยวและฝาดนิดๆ กินเป็นผักแนม
- ส้มจี๊ด มีรสเปรี้ยวแต่ ....ไม่ค่อยนิยมเหมือนมะนาว รสเปรี้ยวไม่จัด แต่ก็นำมาใช้ปรุงอาหาร ในฟิลิปินส์มีการใช้อย่างแพร่หลายเหมือนที่ในประเทศไทยใช้มะนาว
- มะกรูด คนนิยมใช้ใบและผิวมะกรูดมาปรุงอาหาร แต่น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยวใช้แทนมะนาวหรือผสมกับมะนาวปรุงอาหารได้เช่นกัน โดยลดกลิ่นจากการปอกเอาเปลือกออก แล้วค่อยคั้นน้ำเอามาใช้
- มะมุด เป็นไม้ผลสกุลเดียวกับมะม่วง นิยมใช้ปรุงแกงส้ม หั่นเป็นชิ้นหนาปานกลาง ลูกอ่อนไม่แก่เกินไปหั่นเป็นชิ้นๆกินเป็นผักแนมกับน้ำพริก
- มะตาด ที่ใช้ประกอบอาหารคือ มะตาดข้าวเหนียว เนื้อนิ่ม เส้นกากน้อย สีเขียวเข้ม รสเปรี้ยวอมฝาด ชาวมอญนิยมนำมาใช้แกงส้มและแกงคั่ว
- มะปริง ใช้ตำน้ำพริก และให้รสเปรี้ยวในแกงส้ม
- มะอึก ผลกลมมีขนอ่อนๆ ปกคลุม ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกเป็นสีส้มอมเหลือง มีรสเปรี้ยวอ่อนๆ กลิ่นหอม นิยมใส่ในน้ำพริกได้น้ำพริกรสนัวอร่อย แกงคั่ว ยำ ใส่ในส้มตำ แกงส้ม
- ตะลิงปลิง ให้รสเปรี้ยวไม่จัดนัก ใช้ใส่ในแกงส้ม โดยต้มทั้งผล
- ส้มแขก เปรี้ยวจัด นิยมฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งเก็บไว้ใช้ได้นาน นิยมปรุงแกงส้ม หรือต้มส้ม คล้ายๆมะขามเปียก
- ชะมวง ใช้ใบอ่อนในการปรุงอาหาร อาหารที่ขึ้นชื่อคือ ต้มส้มใส่ใบชะมวง และหมูชะมวง ของภาคตะวันออก
- กระท้อน ใส่แกงส้ม แกงคั่ว ให้รสเปรี้ยวอมหวานเจือฝาดนิดๆ
- ส้มจังกระ ใช้ปรุงแกงเหลือง แกงเทโพ รสเปรี้ยวในผัดสะตอ ให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวกลิ่นผสมระหว่างมะนาว กับมะกรูด
- ส้มซ่า ใช้ทั้งใบ ผิว และน้ำส้มซ่า ปรุงอาหารที่มีรสและกลิ่นเฉพาะตัว โดยเฉพาะหมี่กรอบรสดั้งเดิมที่ผสมผิวส้มซ่าใส่เพื่อปรุงรสให้ความหอม
- ส้มป่อย ใบอ่อนให้รสเปรี้ยว กินเป็นผักสดร่วมกับลาบ แจ่ว หรือนำมาปรุงรส เช่น ต้มปลา เนื้อเปื่อย หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ต้มส้ม ต้มข่าไก่ ใส่ในแกงปลาหรือเนื้อเพิ่มรสเปรี้ยว
- ออบแอบ ใช้ยอด ใบเพสลาด หรือใบแก่ นำมาประกอบอาหารให้มีรสเปรี้ยว ในภาคอีสานนิยมนำมาใช้ใส่แกงเห็ด ต้มไก่ ต้มปลา
- เถาคัน หรือ เขาคัน เป็นไม้เลื้อย ทางภาคใต้ใช้ผลดิบของเถาคันขาวซึ่งให้รสเปรี้ยวสำหรับทำแกงส้ม
- แตงเปรี้ยว เป็นแตงพื้นเมืองของไทย มีรสเปรี้ยว ไปจนถึงเปรี้ยวจัด ใช้ใส่แกงส้ม ยำ หรือปรุงน้ำพริกให้รสเปรี้ยว ผลยังกินเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก หรือผัดใส่ไข่ ก็ได้
- ระกำ มีรสเปรี้ยวและกลิ่มหอมมากเฉพาะตัว นิยมปรุงน้ำพริก หรืออาหารประเภทต้ม และต้มยำ
- หลุมพี คล้ายกับระกำและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทางภาคใต้นิยมปรุงน้ำพริก
- น้ำส้มโหนด คือน้ำส้มสายชูหมักซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำน้ำตาลโตนด รสเปรี้ยวหอมเฉพาะตัว นิยมใช้ในการปรุงแต่งรสชาดอาหารของชาวคาบสมุทรสทิงพระ เช่น แกงส้ม ต้มส้ม พริกน้ำส้ม น้ำจิ้ม อาจาด เป็นต้น
การกินอาหารตามฤดูกาล การบริโภคที่หลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดี และเอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูการผลิตที่ยั่งยืนของพวกเรา
เครดิตภาพและข้อมูลโดย : เพจ facebook : นิเวศเกษตร Biodiversity and Agroecology
| ให้ความรู้และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ
| ให้ความรู้และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ
Tweet