อาจารย์เพทาย เป็นอาจารย์สอนภาคปฏิบัติมหกายวิภาคศาสตร์ ท่านสอนได้อย่างดีเลิศ คอยเอาใจใส่ สอนให้นักเรียนแพทย์ชำแหละจนมองเห็นทุกอย่างที่บรรยายไว้ในตำรา ทำให้ศิษย์เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ อาจารย์ผู้ปกครอง คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาลในขณะนั้น ได้ตั้งให้อาจารย์หมอเพทายเป็น “อนุสาสกหญิง” ในปีแรก หอหญิงยังสร้างไม่เสร็จ นักศึกษาหญิงต้องไปพักอยู่บนชั้น 3 ของหอประชุมราชแพทยาลัย อาจารย์เพทายก็ไปนอนด้วย
ระหว่างการก่อสร้างหอหญิง อาจารย์คอยดูแลทั้งตัวตึก และเครื่องใช้อย่างเต็มที่ รวมถึงบริหารจัดการระบบหออย่างดี ให้นักศึกษาแพทย์อยู่ชั้นบน แพทย์ประจำบ้านอยู่ชั้นล่าง ห้องพักอาจารย์อยู่ชั้นล่างก่อนขึ้นบันไดไปชั้น 2 และอาจารย์ยังจัดห้องรับแขกขนาดใหญ่ไว้ชั้นล่าง
สำหรับนักศึกษาที่เป็นคู่รักกัน มาอ่านหนังสือในห้องนี้ พอถึงช่วงดึก อาจารย์จะบอกให้ผู้ชายกลับไปยังหอชาย อาจารย์มักคอยระแวดระวังลูกสาว (นักศึกษาหญิง) เป็นอย่างดี ทั้งยังรัก และห่วงใยนักศึกษาทุกคน ทำให้รู้สึกอบอุ่นจากการอุทิศตนดูแล เอาใจใส่แม้ยามเจ็บไข้ คอยตักเตือนด้วยความรัก และห่วงใยเสมอ แม้กระทั่งการมีแฟนของนักศึกษาแพทย์หญิง ก็อยู่ในสายตาของอาจารย์เสมอ นักศึกษาแพทย์สมัยนั้นจึงคุ้นเคยกับท่านอาจารย์มาก ท่านอาจารย์จึงเป็นเสมือนทั้งครู พี่สาว และแม่
ครั้งหนึ่งนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ ๓ คนหนึ่ง มีอาการปวดท้องมาก อาจารย์เชิญแพทย์มาตรวจอาการจนทราบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ จึงจัดการส่งไปห้องผ่าตัด เล่ากันว่า อาจารย์หมอเพทายยืนเฝ้าอยู่หน้าห้องไม่อนุญาตให้พวกหนุ่มๆ ทั้งหลายที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องผ่าตัดด้วยกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ท่านอาจารย์ ได้ถึงแก่มรณกรรม
นับเป็นครูผู้ที่มีมุธิตาจิต ตั้งใจ มุ่งมั่น ห่วงใย ให้กับศิษย์ผู้ให้ด้วยรักและจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- หนังสือ “ปูชนียาจารย์ ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช เล่ม ๓”
- หนังสือ "รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ : ชีวิตและผลงาน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ"
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
อนุศาสก
ป. อนุสาสก).