ต้นแบบ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักๆ มีอยู่ 3 แบบ คือแบบอังกฤษ , แบบสหรัฐอเมริกา และแบบฝรั่งเศส
ซึ่ง การปกครองระบอบประชาธิปไตย democracy ทั้ง 3 แบบหลัก มีประเทศต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้โดยแตกแขนงในรายละเอียดที่แตกต่างกันให้เข้ากับวิถีของแต่ละประเทศ
- “ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ”
มี "พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ" มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจบริหารสูงสุดประเทศอังกฤษ เป็นแม่แบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
รัฐธรรมนูญอังกฤษที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ อังกฤษเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหมายถึง หลักการปกครองต่างๆ ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นรัฐธรรมนูญเฉพาะ แต่กระจายอยู่ตามกฎหมาย และคำพิพากษาต่างๆ รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ สืบทอดกันมาจนกลายเป็นจารีตประเพณี ดังนั้น จึงมีความยืดหยุ่น สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) มีพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุขของประเทศ ที่ปกครองประเทศผ่านทางรัฐสภา ซึ่งมี 2 สภา คือ สภาขุนนาง (เมืองไทยเรียกว่าวุฒิสภา) และสภาล่าง (เมืองไทยเรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร) โดยสมาชิกสภาขุนนาง เป็นขุนนางสืบตระกูลประมาณ 900 คน อีกประมาณ 300 คนเป็นขุนนางตั้งใหม่จากผู้มีความรู้ความสามารถ หรือผู้ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ส่วนสภาล่างมาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี มีประมาณ 600 คน อำนาจการแต่งตั้งรัฐบาลเป็นของสภาล่าง ส่วนสภาสูงมีหน้าที่สำคัญก็คือ การกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบระบบการเมือง ประเทศไทยเลียนแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาจากอังกฤษ
- “ประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา”
มี "ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ และเป็นหัวหน้ารัฐบาล"
สหรัฐอเมริกามีการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) ที่พลเมืองอยู่ใต้บังคับแห่งการปกครองสามระดับ คือ รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ, รัฐบาลของรัฐ และ การปกครองท้องถิ่น โดย ระบบสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกาใช้ระบบสองพรรคมาเกือบตลอด โดยมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief of Executive) ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไป
- “ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส”
เป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และมีอำนาจในการบริหารสูงสุด และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ระบอบกึ่งประธานาธิบดี หรือ ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (semi-presidential system) เป็นระบอบการปกครองที่ ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและมีอำนาจในการบริหารสูงสุด และเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยไม่ต้องได้รับมติไว้วางใจจากรัฐสภา แต่ต้องมีเสียงข้างมากในสภา
โดยที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอรายชื่อรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี และประธานาธิบดีจะลงนามอนุมัติ
ในขณะที่รัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามที่เสนอไว้ต่อสภา โดยมีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล ซึ่งหมายความว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สามารถถูกถอดถอนได้โดยสภาผู้แทนราษฎร ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีก็มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน เป็นการถ่วงดุลอำนาจกัน
- “ประชาธิปไตยแบบรัสเซีย”
เป็นระบบประธานาธิบดี-รัฐสภา
ประชาธิปไตยแบบรัสเซีย เลียนแบบมาจากฝรั่งเศส ส่วนที่แตกต่างคือ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสไม่มีสิทธิปลดคณะรัฐมนตรี แต่ประชาธิปไตยแบบรัสเซียนั้นประธานาธิบดีและรัฐสภา (ผ่านมติไม่ไว้วางใจ) มีอำนาจปลดคณะรัฐมนตรีได้ทั้งคู่
บทความโดย : เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค
ข้อมูลภาพ และดัชนีประชาธิปไตย โดย : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Democracy_Index_2020.svg