คนอินเดียโบราณเชื่อว่า สวัสดี เป็นเทพีแห่งความสุข ความโชคดี และความสำเร็จ.
ในภาษาไทย สวัสดี หมายถึง ความรุ่งเรือง ความปลอดภัย มักใช้คู่กับความสุข เป็น ความสุขสวัสดี.
คำว่า สวัสดี เป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พบคำนี้ในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ในจารึกวัดพระเสด็จ และในไตรภูมิพระร่วง กล่าวให้พรผู้รักษาเบญจศีลว่า“…ให้จำเริญสวัสดีทุก ๆ ชาติแล”. คำว่า สวัสดี ที่ใช้มาแต่เดิม ยัง "ไม่ใช่คำทักทาย"
ผู้ที่เริ่มให้ใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทาย เมื่อพบหน้ากันและจากกันคือ พระยาอุปกิตศิลปสาร โดยได้เริ่มใช้ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๖ ในหมู่อาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้กันทั่วไปใน พ.ศ. ๒๔๘๖
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 (เมื่อ 80 ปีก่อน) จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เห็นชอบให้ใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2486 เป็นต้นมา
สำหรับคำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นคำแปลจากคำว่า "good night" ซึ่งเป็นคำบอกลาในภาษาอังกฤษ ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นกัน โดยกำหนดให้คนไทยทักกันตอนเช้าว่า "อรุณสวัสดิ์" มาจากคำว่า "good morning" และให้ทักกันในตอนบ่ายว่า "ทิวาสวัสดิ์" มาจากคำว่า "good afternoon" ส่วนตอนเย็นให้ทักกันว่า "สายัณห์สวัสดิ์" มาจากคำว่า "good evening" แต่เนื่องจากต้องเปลี่ยนไปตามเวลา จึงไม่เป็นที่นิยม คนไทยนิยมใช้คำว่า "สวัสดี" มากกว่า เพราะใช้ได้ตลอดเวลา แต่กระนั้น คนไทยก็ยังคงใช้อยู่บ้างบางคำคือ คำว่า อรุณสวัสดิ์ และราตรีสวัสดิ์
อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร
(นิ่ม กาญจนชีวะ)
เกิด 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422
เสียชีวิต 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (62 ปี)
.... ครู ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญภาษาไทย-บาลี วรรณคดีไทย มีผลงานการประพันธ์ชิ้นสำคัญ หลายเรื่อง เช่น ตำราไวยากรณ์ไทย ๔ เล่ม ประกอบด้วย อักขรวิธี , วจีวิภาค , วายกสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ เรื่องสงครามภารตคำกลอน ฯลฯ
คุณูปการของท่านพระยาอุปกิตศิลปสาร จึงเป็นหนึ่งในต้นแบบเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิปัญญา ที่ท่านได้บ่มเพาะให้ไว้แก่แผ่นดินไทย สมควรที่พวกเราคนไทยทุกคนจะร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบต่อไป
ภายหลังจาก อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ท่านยังได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่แก่นักศึกษาแพทย์ นับเป็นบุคคลแรกที่ได้บริจาคร่างเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ในการศึกษาแพทย์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน ชั้น 3 ตึกกายวิภาคศาสตร์
อ้างอิง
- หนังสือ ๑๒๐ ชิ้นเอกของศิริราช
- หนังสือ “ฟัง พูด อ่าน เขียน ไม่ผิดเพี้ยนภาษาไทย...คุยกับหมอภาษา” โดย ศิริวรรณ์ อินทรกำแหง
คำว่า “สวัสดี” มาจากไหน? ใช้เมื่อไหร่? ใครเริ่ม สวัสดี
https://www.silpa-mag.com/culture/article_31081