พระแสงตรีศูล เป็นพระแสงราชศัสตราวุธสำหรับพระเกียรติยศองค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของพระบรมราชจักรีวงศ์คู่กับพระแสงจักร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญพระแสงตรีศูลองค์นี้ มาถวายแด่ สมเด็จพระจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซฟ ที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ พร้อมด้วยพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรี ดังมีความตอนหนึ่งว่า
“…กรุงสยามทราบว่า กรุงออศเตรียเปนสืบเนื่องมาแต่วงษพระเจ้าแผ่นดินแลพระบรมราชวงษในยุโรปโบราณฤกซึ้งมา สมควรจะทรงรับพระแสงตรีศูล ซึ่งเปนฝีมือช่างอย่างสยามในปัตยุบันนี้ กรุงสยามได้ให้ถ้ายทำเทียบแบบโดยชัดเจนออกจากเครื่องราชอิศริยยศ ซึ่งเปนของโบราณสำหรับพระเจ้าแผ่นดินในทิศตวันออก ได้ทรงใช้แลเปนที่นับถือตามขัตติยจารีตมา ในอินดิยาณาจักรตั้งแต่ในเวทิกสมัย แลเปนเครื่องราชอิศริยยศ อันเปนที่นับถืออยู่ในหมู่อัษฎาวุธ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินสยามในปัตยุบันนี้...”
*** (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) ดังภาพสำเนาพระราชสาส์นองค์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรียที่ได้เชิญมาแสดงประกอบ ณ ที่นี้
*** (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) ดังภาพสำเนาพระราชสาส์นองค์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรียที่ได้เชิญมาแสดงประกอบ ณ ที่นี้
พระแสงตรีศูล องค์นี้ ใบพระขรรค์เป็นเหล็กกล้าคร่ำทอง โคนพระขรรค์องค์กลางประดับตราอาร์มช้างสามเศียรยืนแท่น เหนือตราอาร์มปรากฏตราพระเกี้ยว อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปล่งรัศมีและประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีราชสีห์และคชสีห์ประคองฉัตร ๗ ชั้นอยู่ซ้ายขวา สองข้างของตราอาร์มเป็นรูปมกรคายต่อเนื่องออกไปยังโคนพระขรรค์องค์ซ้ายและขวา
ด้ามหุ้มทองคำลงยาประดับพลอย ปลายสุดเป็นหัวเม็ด พระแสงตรีศูลองค์นี้มีฝักทองคำลงยา ๓ ฝักสำหรับสวมพระขรรค์แต่ละองค์ หีบบรรจุพระแสงตรีศูลเป็นหีบไม้บุกำมะหยี่สีเหลือง ด้านบนหีบประดับตราอาร์มแผ่นดินสยามทำด้วยทองคำสลักลายลงยา พร้อมแผ่นจารึกข้อความว่า “สมเด็จพระประมินทรมหาจุฬาลงกรณ ที่ ๑ พระจุลจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม ฯลฯ ทรงยินดีมาใน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชฟรานซิศ โยเสฟ ที่ ๑ พระเจ้ากรุงออศเตรีย ฯลฯ”
(๒) พระแสงกระบี่นาคสามเศียร
สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระแสงกระบี่องค์นี้แด่สมเด็จพระจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซฟ ที่ ๑ เพื่อเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงเวียนนาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๐ หรือมิเช่นนั้น ก็อาจเป็นของระลึกในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงเวียนนาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕
พระแสงกระบี่ ดังกล่าว ใบกระบี่เป็นเหล็กกล้า สันคร่ำทองและปรุลาย ฝักกระบี่เป็นทองคำสลักลายลงยาประดับเพชรเป็นเถาพรรณพฤกษา
บนฝักด้านหนึ่ง ปรากฏตราอาร์มแผ่นดินสยามพร้อมด้วยเครื่องอัษฎาวุธกับเครื่องพิชัยสงคราม บนฝักอีกด้านหนึ่งปรากฏยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ พร้อมด้วยสิ่งมงคล ๘ ประการตามคติพราหมณ์ ได้แก่ หม้อน้ำ สังข์ อุณหิส ธงสามชาย โคอุสุภราช ขอสับช้าง คทา และจักร ด้ามกระบี่เป็นลำตัวนาคและหัวกระบี่เป็นเศียรนาคสามเศียรลงยาประดับเพชร โดยเศียรข้างขนาดย่อมกว่าเศียรกลาง โกร่งกระบี่ปรุลายฉลุลงยาประดับเพชรเป็นเถาพรรณพฤกษา มีพระตราจักรีและตราอาร์มประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ประดับอยู่บนโกร่งด้านที่ติดกับใบกระบี่
หมายเหตุ การเก็บรักษาศิลปวัตถุทั้งสองรายการไว้ในคลัง มิได้จัดแสดงในนิทรรศการถาวร
ข้อมูลและภาพ โดย : https://thaiembassy.at/th/ | Royal Thai Embassy Vienna
ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สัมพันธไมตรีระหว่างไทย-ออสเตรีย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือที่ระลึก “จากเจ้าพระยาสู่ดานูบ: ๑๕๐ ปี สัมพันธไมตรีไทย-ออสเตรีย” ทางลิงค์
https://thaiembassy.at/th/news/11-general-news/668-150.html
ข้อมูลเพิ่มเติม : จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 หรือ จักรพรรดิฟรานซิส โจโซฟที่ 1 (18 สิงหาคม ค.ศ. 1830 – 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916)
ทรงเป็นจักรพรรดิออสเตรีย พระมหากษัตริย์ฮังการี และรัฐอื่น ๆ ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1848 จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคต ทรงเป็นประธานสมาพันธรัฐเยอรมันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1850 จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1866 พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองและเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิออสเตรีย–ฮังการี ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดเป็นอันดับหก ของรัฐทั้งหมดในประวัติศาสตร์