กฐินพระคือผ้า กฐินข้าคือเงิน ... เรื่องเพี้ยนๆ ที่ควรเรียนให้รู้ทัน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในสังคมไทยในปัจจุบัน ตอนที่ ๑ โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
“กฐินพระคือผ้า” หมายถึง กฐินที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตไว้ คือ การถวายผ้าเพื่อให้พระผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดเดิมชุดเดียวที่ใช้มาทั้งปี
การถวายผ้า เพื่อให้พระผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มชุดเดิมนี่คือเจตนาดั้งเดิมแท้ของการทอดกฐิน ซึ่ง ณ วันนี้คนที่มองเห็นแทบจะไม่มีแล้ว
จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ชัดก็ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่สมัยพุทธกาล สมัยโน้นผ้าหายาก ผู้จะบวชต้องมีเครื่องใช้ประจำตัวครบ ที่รู้จักกันว่า “อัฐบริขาร” คือเครื่องใช้ ๘ อย่าง ๓ ใน ๘ คือผ้า ๓ ผืน - ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าห่มกันหนาว ถ้าพูดว่า สบง จีวร สังฆาฏิ คงนึกภาพออกทันที
ความสำคัญของผ้า ๓ ผืนนี้มีแค่ไหน ?
ก็ขอให้ดูที่รายละเอียดการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บวช รายการหนึ่งที่ยกขึ้นมาตรวจสอบคือ
ถ้าผ้าไตรจีวรมีไม่ครบ ก็บวชไม่ได้
ผ้า-เครื่องนุ่งห่มของภิกษุ ในระยะต้นกำหนด ให้ใช้ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ที่เรียกว่า “บังสุกุลจีวร” ตามศัพท์แปลว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่น” ซึ่งก็หมายถึงผ้าที่ทิ้งแล้วนั่นเอง ผู้จะบวชต้องไปเที่ยวหาผ้าเช่นนั้นมาเลือกเอาเนื้อผ้าส่วนที่ยังพอใช้ได้มาเย็บปะติดปะต่อเป็นผืน และนี่เองที่มาของจีวรพระที่มีรอยตะเข็บเต็มไปทั้งผืน
“ ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ ” แปลว่า “บาตรจีวรมีครบนะ”
ถ้าผ้าไตรจีวรมีไม่ครบ ก็บวชไม่ได้
ผ้า-เครื่องนุ่งห่มของภิกษุ ในระยะต้นกำหนด ให้ใช้ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ที่เรียกว่า “บังสุกุลจีวร” ตามศัพท์แปลว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่น” ซึ่งก็หมายถึงผ้าที่ทิ้งแล้วนั่นเอง ผู้จะบวชต้องไปเที่ยวหาผ้าเช่นนั้นมาเลือกเอาเนื้อผ้าส่วนที่ยังพอใช้ได้มาเย็บปะติดปะต่อเป็นผืน และนี่เองที่มาของจีวรพระที่มีรอยตะเข็บเต็มไปทั้งผืน
หลายคน ... มีปัญหายังบวชไม่ได้เพราะยังหาผ้าไม่ได้ และมีบางรายที่หมดโอกาสได้บวชเนื่องจากประสบเหตุเสียชีวิตในระหว่างที่กำลังเที่ยวหาผ้าอยู่นั่นเอง - นี่คือความสำคัญของผ้า
“ผ้าป่า” ก็มีปฐมเหตุมาจากการที่ภิกษุต้องใช้ผ้าที่ทิ้งแล้วนี่เอง มูลเหตุของผ้าป่าก็คือ ชาวบ้านที่เข้าใจถึงปัญหาของภิกษุเกี่ยวกับเรื่องต้องใช้ผ้าที่ทิ้งแล้ว ประสงค์จะสงเคราะห์ภิกษุมิให้ต้องลำบากด้วยการเที่ยวหาผ้า จึงทำอุบายเอาผ้าไปวางทิ้งไว้ตามทางที่รู้ว่าจะมีภิกษุผ่านไปมา เมื่อภิกษุไปพบเข้าและเห็นว่าไม่มีตัวเจ้าของอยู่ในที่นั้น ก็จะเก็บผ้านั้นไปทำจีวร
ภิกษุสมัยก่อนอยู่ป่าเป็นพื้น ชาวบ้านก็เอาผ้าไปทอดไว้ตามป่า จึงเรียกผ้าเช่นนั้นว่า “ผ้าป่า” คำบาลีว่า “บังสุกุลจีวร”
ศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุ มีหมวดที่ว่าด้วยผ้า โดยเฉพาะ เรียกว่า “จีวรวรรค” มีข้อหนึ่งที่บัญญัติว่า
“ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
ในทางปฏิบัติก็คือ ก่อนรุ่งอรุณทุกวัน ภิกษุจะต้องมีผ้าอยู่ติดตัวครบ ๓ ผืน การปฏิบัติเช่นนี้ คำเก่าเรียกว่า “รักษาผ้าครอง” และเรียกกิริยาที่มีผ้าอยู่ติดตัวครบ ๓ ผืนว่า “ครองผ้า” นี่ก็แปลว่าการดูแลรักษาผ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เรื่องนี้พระรุ่นเก่าจะรู้และเข้าใจกันดี แต่พระรุ่นใหม่สมัยนี้ ผมไม่แน่ใจ เผลอๆ อาจจะไม่รู้ว่า “ครองผ้า” คืออะไรด้วยซ้ำไป
ในพระวินัยปิฎก มีเรื่องหมวดหนึ่งว่าด้วยผ้า โดยเฉพาะ เรียกว่า “จีวรขันธกะ” อยู่ในลำดับต่อจากเรื่องกฐิน เรื่องนางวิสาขาทูลขอพุทธานุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน เรื่องหมอชีวกทูลขอพุทธานุญาตถวายจีวรสำเร็จรูป ( คือที่เรียกว่า คหบดีจีวร คู่กับบังสุกุลจีวร ) เป็นต้น มีบันทึกไว้ในพระวินัยปิฎก เรื่องเหล่านี้บอกให้รู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นระหว่างผ้ากับวิถีชีวิตสงฆ์
ในเมืองไทยเรานี้ ถือกันว่าการทอดกฐินเป็นบุญที่มีอานิสงส์แรง นิยมทำกันอย่างคึกคักแข็งแรงมาแต่โบราณนานไกล จนเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ดังเป็นที่ทราบกัน
จุลกฐิน - เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า คนโบราณเข้าใจดีที่สุดว่ากฐินเป็นเรื่องของการถวายผ้าจริงๆ
จุลกฐินคืออะไร ?
สมัยนั้นผ้าไตรไม่ได้มีขายตามร้านขายยาทั่วไปเหมือนสมัยนี้ สมัยก่อนจะบวชลูกชายทีต้องทอผ้า ตัด เย็บ ย้อม ทำผ้าไตรกันเอง
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางเดียวที่จะช่วยสงเคราะห์สงฆ์ให้ได้กรานกฐิน-ซึ่งก็คือทางเดียวที่จะทอดกฐินได้ ก็คือ ..... ต้องทำผ้ากฐินกันเอง .... เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย กรอด้าย ทอผ้า-ผืนเล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ก็คือสบง ตัด เย็บ ย้อม ให้สำเร็จเป็นผ้ากฐิน มีเวลาแค่เช้าชั่วค่ำ เพราะสงฆ์จะต้องกรานกฐินเสร็จก่อนรุ่งอรุณ ... ลองนึกดูเถิดว่า .... จะโกลาหลวุ่นวายขนาดไหน ถ้าบริหารจัดการไม่แน่น วางแผนไม่ดี บารมีไม่พอ รับรองได้ว่า-ยากที่จะทำสำเร็จ
ตรงนี้แหละที่เกิดสำนวนไทยว่า “ยุ่งเป็นจุลกฐิน”
เพราะฉะนั้น ใครสมัยก่อนที่สามารถทำ “จุลกฐิน” ได้สำเร็จ ย่อมควรแก่การน้อมคารวะในศรัทธาประสาทะอย่างแท้จริง
ตรงนี้แหละที่เกิดสำนวนไทยว่า “ยุ่งเป็นจุลกฐิน”
เพราะฉะนั้น ใครสมัยก่อนที่สามารถทำ “จุลกฐิน” ได้สำเร็จ ย่อมควรแก่การน้อมคารวะในศรัทธาประสาทะอย่างแท้จริง
จุลกฐิน จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ยืนยันว่า สมัยก่อนผ้ากับพระเป็นเรื่องสำคัญแน่ๆ และหัวใจแท้ๆ ของกฐินคือผ้าผืนเดียวเท่านั้น
“กฐินพระคือผ้า” มีอรรถาธิบายดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
๑๗:๒๙