ครั้งหนึ่ง เงี้ยวซึ่งถูกจับจากกรณีกบฎเมืองแพร่ แหกคุกหนีออกมา แต่หลายคนถูกพัสดียิงตาย ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีพวกที่เป็นคนสัปเยกของอังกฤษด้วย
ภาพ/เรียบเรียง โดย : ฉายานิทรรศน์
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ เซอร์ ราฟ สเปนเซอร์ พาเก็ต (Sir Ralph Spencer Paget) ราชทูตอังกฤษประจำสยามคนใหม่ รีบตรงไปเข้าเฝ้า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ( พระอิสริยยศในขณะนั้น ) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทูลถามเรื่องราวทั้งหมด กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิด และรับว่าเป็นความผิดของฝ่ายสยาม ... ดังนั้นจึงยินยอมจะชำระลงโทษและชดใช้ญาติพี่น้องคนตายตามสมควร
กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ตรัสว่า "เห็นจะมากไปกระมัง" ท่านราชทูต ทูลว่า "ถ้าเช่นนั้นคนอื่นก็จะเยาะได้ว่าอังกฤษปกป้องรักษาชีวิตใครไม่ได้ ดูเสียเกียรติเต็มที" กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ตรัสตอบว่า "แม้ฉันจะยอม แต่กรมดำรงผู้เป็นเจ้าของท้องที่เขาจะยอมหรือ จะให้ดีไปถามเขาดูเองเถิด"
ด้วยความโกรธเกรียวเต็มประดา ท่านราชทูตจึงออกจากกระทรวงการต่างประเทศเดินข้ามถนนมาตึกที่ทำการกระทรวงมหาดไทย แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ( พระอิสริยยศในขณะนั้น ) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แล้วตั้งต้นพูดกันใหม่ ...
แต่ต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง เถียงกันไปเถียงกันมา
.. จนสุดท้ายกรมหลวงดำรงฯ จึงตรัสออกไปว่า
"นี่แน่ เซอร์ ราฟ เรายอมทุกอย่างแล้ว เว้นไว้แต่ชักธงเท่านั้นไม่ได้ ฉันรู้ดีว่าเมืองไทยเป็นเมืองเล็กและถ้ารบกับท่านก็จะแพ้ใน ๗ วัน แต่คำว่า Honour (เกียรติยศ) ยังมีอยู่ในโลกนี้ ฉะนั้นเราก็มารบกันเสียก่อนไม่ดีหรือ ลูกหลานข้างหน้ามันจะได้ไม่ด่าว่าเราขี้ขลาด"
พระดำรัสของกรมหลวงดำรงฯ ทำให้ท่านราชทูตโกรธเต็มที่ ลงบันไดไปโดยไม่ร่ำลา แต่ภายหลังท่านก็ยอมปล่อยเรื่องนั้นเท่าที่ฝ่ายสยามจะยอมได้ ไม่บังคับอะไรอีก ทั้งยังไปพูดต่ออีกว่า
"เมืองไทยมีคนแข็งๆ เสียแล้ว"
- ภาพ : เซอร์ ราฟ สเปนเซอร์ พาเก็ต (Sir Ralph Spencer Paget) อัครราชทูตอังกฤษประจำสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๒
- ที่มา : National Portrait Gallery
- บรรเลง : นายสอาด
- ลงสี : นายพโยม
หนังสือสารคดีเล่มนี้ ได้รวบรวมความเป็นมา เกี่ยวกับการเล่าขานถึงตำนาน ผีแม่นาก จากทุกสถานที่ จากหลายยุคสมัย เพื่อมาประติดประต่อเรื่องราว และพิสูจน์ว่าตำนานที่เล่าขานนี้มีมูลความจริงหรือไม่! รวบรวมเรื่องราวและเล่าถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างละเอียดลออ โดย เอนก นาวิก มูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563