ทุกๆ ปีพอถึงวันครู ผมก็จะระลึกถึงครู 3 กลุ่มของผมเป็นพิเศษ กลุ่มแรกคือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พี่ป้าน้าอา ญาติๆ และผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ ที่ได้อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับผม
บทความโดย : Panitan Wattanayagorn
ทุกๆ ปี พอถึงวันครู ผมก็จะระลึกถึงครู 3 กลุ่มของผมเป็นพิเศษ กลุ่มแรกคือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พี่ป้าน้าอา ญาติๆ และผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ ที่ได้อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับผม โดยเฉพาะคุณแม่ของผม ซึ่งนอกจากจะเป็นคุณครูคนแรกของผมแล้ว ก็ยังมีอาชีพเป็นครูมาก่อนด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ภรรยาผมก็เพิ่งจะเริ่มอาชีพเป็นครูอีกเหมือนกัน คุณแม่ผมก็เลยนำใบอนุญาตให้เป็นครูของสมัยก่อน มาให้ดู (ตามรูปข้างล่างครับ) พร้อมเล่าประสบการณ์การเป็นครูในอดีตให้พวกเราฟังกัน
ครูของผมในกลุ่มแรกนี้ ยังรวมถึงบาทหลวง และพระสงฆ์ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ผมเรียนในโรงเรียนคาทอลิก และโปรแตสแตนท์ และบวชเรียนที่วัดราชบพิธ ที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องศาสนาและเรื่องพระธรรมวินัยมากขึ้น ส่วนคุณครูของผมที่โรงเรียนถนอมศรีศึกษา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา , โรงเรียนแสงทองวิทยา ที่หาดใหญ่ , โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย , โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยในรัฐ Ohio และรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกานั้น เวลานี้ส่วนใหญ่ก็อายุมากกันแล้ว บ้างก็เจ็บป่วย บ้างก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่คำสอนของครูก็คงยังอยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา
กลุ่มที่สอง เป็นครูผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับการทำงานให้กับผม เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาตอนที่ผมทำงานไปด้วยเรียนต่อไปด้วยเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน โดยเฉพาะหัวหน้างานชาวอเมริกันหลายคน ซึ่งตั้งใจสอนงานให้ผมเป็นอย่างดี และในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จัก Thailand และนึกว่าคือ Taiwan เพราะในช่วงนั้นสินค้าตีตรา “Made in Taiwan” ขายดีมาก เหมือนๆ กับช่วงนี้ที่สินค้าทำจากจีนขายดิบขายดี และตอนนั้นฝรั่งหลายคน ที่เคยดูหนังดูละครเรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ก็พากันสงสัยว่าพวกเราคนไทยยังขี่ช้างขี่ม้าอยู่หรือเปล่า ต้องอธิบายกันพอสมควร
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ คุณครูในกลุ่มนี้ นอกจากจะช่วยให้ผมได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งทำให้ผมเข้าใจปัญหาในทางปฏิบัติมากขึ้นแล้ว คุณครูในงานของผมนั้น ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการเสียสละและช่วยทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมอีกด้วย เมื่อผมเสร็จภารกิจเหล่านั้นในแต่ละครั้งและกลับไปเป็นครูผู้สอนตามเดิม ผมก็ได้นำประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปเล่าไปวิเคราะห์ไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหานักศึกษาหรือคนที่อยากรู้อยากทราบฟัง เพิ่มเติมจากที่ต้องสอนตามตำราตามทฤษฏี หรือตามผลงานวิจัยตามปกติ ส่วนที่มหาวิทยาลัย และในสถาบันด้านการศึกษา และฝึกอบรม ทั้งในอเมริกา ยุโรปและที่นี่นั้น ผมก็ยังมี "ครู” ที่เป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานหรือลูกจ้าง อีกหลายคนที่ให้คำแนะนำ หรือชี้แนะที่ดีๆ ผมยังจำได้ดีว่าในวันแรกๆ ที่เริ่มเรียนหนังสือต่อที่อเมริกานั้น หรือในวันแรกที่ต้องช่วยอาจารย์ชาวอเมริกันสอนหนังสือ หรือในวันแรกๆ ที่เริ่มสอนหนังสือในไทย หรือทำงานด้านการศึกษาฝึกอบรม หรือในช่วงที่ไปทำงานวิจัยที่อังกฤษและในยุโรป หรือไปเป็น Visiting Professor ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่กรุงวอชิงตันดีซี นั้น มี "ครู" มาให้คำแนะนำในการเริ่มงานอย่างไรบ้าง และในช่วงที่ติดขัด คิดอะไรไม่ออก เขียนวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยแล้วสะดุด หรือแก้ปัญหาบางอย่างไม่ตก หรือสงสัยมีคำถามเกี่ยวกับคนและระบบของที่ทำงานหรืในมหาวิทยาลัย ผมก็ได้รับตอบหรือคำแนะนำดีๆ ที่ไม่คาดคิดจากครูผู้รู้เหล่านี้
เวลานี้ ครูกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกับกลุ่มแรก ส่วนใหญ่ก็เกษียณอายุแล้ว เจ็บไข้ได้ป่วยกันไปบ้าง สูญเสียความทรงจำกันไปบ้าง จำพวกเราลูกศิษย์ไม่ได้แล้วบ้าง คุณครูหลายคนก็สูญเสียคู่ครองไป หรือต้องอยู่ตามลำพัง ทุกวันนี้ผมใจหายทุกครั้งเมื่อทราบว่าครูของผมเสียชีวิตไปในแต่ละปีตามกาลเวลา และเวลาที่ผมนำคำแนะนำของครูที่เป็นประโยชน์มาใช้ ผมก็ยังระลึกถึงคุณครูทั้งหลายเหล่านั้นอยู่เสมอ
กลุ่มที่สาม ก็เป็น "ครู" ที่อยู่ใกล้ตัวและรอบๆ ตัวของผม ทั้งครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งพี่เลี้ยงและเพื่อนฝูง ทั้งลูกศิษย์ลูกหา นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและในที่ต่างๆ ที่ผมไปบรรยาย รวมทั้งคนที่สนใจเรื่องของผม ตลอดจนสื่อมวลชนหรือคนที่เห็นอะไรๆ ต่างจากผม ที่ได้เป็นกระจกเงาสะท้อนตัวผม โดยเฉพาะที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ ติติง หรือชี้แนะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนหรือในด้านใด ผมก็ถือว่ามีส่วนที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาตนเองได้ด้วย ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็น “ครู” ให้ผมอีกทางหนึ่ง
ขอขอบพระคุณและขอบคุณครับ
Happy Teachers' Day!
Happy Teachers' Day!
16 มกราคม 2565