โฆษณ์ คือ โฆษณา, ธรรมโฆษณ์ คือโฆษณาธรรม… การที่จะทำให้มี ธรรมโฆษณ์ คือการเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไป
วาทะสุดท้ายของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพของโลก และปณิธาน ๓ ข้อของท่านอาจารย์ อันได้แก่
1 เข้าถึงหัวใจศาสนาของตน"ปัจจุบันนี้เราโฆษณาในเรื่องที่ทำให้คนมีปัญหามากเหลือเกิน ส่วนการโฆษณาที่ทำให้คน "มีกุศล" ยังมีน้อย กำลังมันไม่พอ
2 ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา
3 นำโลกออกจากวัตถุนิยม
โลกยังไม่สามารถตั้งอยู่ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของโลกได้ แต่กลายเป็นเวทีที่ยื้อแย่งฉกฉวยเอาความได้เปรียบแก่กันและกันเสียมากกว่า ศาสนาเหลืออยู่เป็นที่พึ่งด่านสุดท้าย ที่จะเป็นความหวังหรือที่พึ่งของโลก แต่ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างเพียงพอ ยังจะต้องทำความเข้าใจกันและประสานงานกันอีกมาก กิจกรรมธรรมโฆษณ์มีความมุ่งหมายส่วนลึกเพื่อแก้ปัญหาส่วนนี้
ทุกศาสนาล้วนแต่มี "ธรรมเป็นเนื้อใน" ซึ่งหากสามารถนำออกมาใช้ได้ ก็จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลกได้ การทำให้โลกนี้มีศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แห่งยุคปัจจุบัน ศาสนิกของแต่ละศาสนาจะต้องเข้าถึงแก่นแท้แห่งศาสนาของตน ๆ จึงจะร่วมมือช่วยโลกได้ กิจกรรมธรรมโฆษณ์กำลังดำเนินไป
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง และตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง ก็คือ เรากำลังทำกันได้แต่เพียง “รู้” ธรรมะ แต่ “ไม่มี” ธรรมะ ยังไม่มีธรรมะใช้ในการแก้ปัญหานั้นอย่างเพียงพอ เราไม่ได้บังคับตนเองให้มีธรรมะอย่างที่เราได้เรียนรู้ เรายังไม่ละอายในการที่เราไม่มีธรรมะ เรายังไม่กลัวอันตรายอันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีธรรมะ การสอนและการเรียนธรรมะยังเป็นสิ่งที่มีผลไม่คุ้มทุน กิจกรรมธรรมโฆษณ์ จึงมุ่งไปในทางการกระทำให้มีธรรมะยิ่งกว่าที่จะเพียงแต่ให้รู้ธรรมะเท่านั้น
การศึกษาระบบ “สุนัขหางหาย” แห่งโลกยุคปัจจุบัน นอกจากไม่สอนธรรม มัวแต่สอนหนังสือและวิชาชีพแล้ว ยังสอนไปในทางไม่ให้บังคับตัวเองด้วย โดยการถือว่าเป็นการเสียอิสรภาพและผิดหลักจิตวิทยา พลโลกยุคปัจจุบันจึงอยู่ในฐานะที่ยากที่จะมีธรรมะมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะหลงมีรสนิยมแห่งการตามใจตัวเอง อันเป็นข้าศึกต่อธรรมะ คนในยุคปัจจุบันบูชาความอร่อยทางตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ แทนการบูชาพระเจ้า ทั้งคนแก่และเด็ก ทั้งศิษย์และอาจารย์ มีความเห็นตรงกันในข้อนี้ จึงเป็นการยากที่ใคร ๆ จะมาคัดง้างให้หันไปบูชาธรรมะแทนการบูชาอายตนะที่มีไว้เพื่อกามารมณ์ และวิธีการบริโภคกามารมณ์อย่างวิปริตวิตถารชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน กิจกรรมธรรมโฆษณ์จึงตกอยู่ในลักษณะเหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขา หรือถึงกับจูงช้างลอดรูเข็มเอาทีเดียว แต่พวกเราก็ยังทอดทิ้งภารธุระอันนี้ไม่ได้อยู่นั่นเอง
แนะนำหนังสือ ชุดธรรมโฆษณ์
หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ โดยในหมวดที่หนึ่ง คือชุดจากพระโอษฐ์ มีห้าเล่ม ดังนี้
- พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
เป็นพระประวัติตรัสเล่า ไม่มีคำเรียบเรียงของผู้แต่งคละปน เพราะเป็นที่รวบรวมเฉพาะพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงประวัติของพระองค์เอง จากคัมภีรัพระไตรปิฎกล้วน เลือกเก็บเอามา ร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ติดต่อกันเป็นลำดับ มุ่งแสดงหลักธรรมที่แนบอยู่ในพระชนม์ชีพของพระองค์ แทนการมุ่งทางตำนานประวัติ หรือนิยายประวัติ เพื่อให้เป็นหนังสือส่งเสริมปฏิบัติธรรมเล่มหนึ่ง เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นแก่นแห่งเรื่องพุทธประวัติด้วย เป็นส่วนพิเศษ
- อริยสัจจากระโอษฐ์ภาคต้นและภาคปลาย
เป็นการรวบรวมเรื่องอริยสัจที่ตรัสเอง ไว้อย่างครบถ้วนที่สุด เพียงพอที่จะศึกษาเรื่องอริยสัจอย่างชัดแจ้ง ให้สมกับข้อที่ว่า อริยสัจเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นที่รวบรวมแห่งพระพุทธ-วจนะทั้งปวง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้ช่วยกันเผยแผ่ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์
- ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
เป็นคำชี้ขุมทรัพย์ที่ตรัสเอง ไม่มีคำเรียบเรียงของผู้แต่งคละปน เพราะเป็นที่รวบรวมเฉพาะพระพุทธภาษิต ที่ตรัสขนาบและชี้ชวนไว้ด้วยพระองค์เอง จากพระไตรปิฎกล้วน เลือกเก็บเอามาร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ติดต่อกันตามลำดับ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาของผู้ขุดค้นขุมทรัพย์ เพื่อเป็นกำลังใจของผู้เหน็ดเหนื่อยในการขุดค้นขุมทรัพย์ และเพื่อเป็นเครื่องกลับตัวของผู้ที่ขุดค้นขุมทรัพย์อยู่ในวิธีที่นอกทาง เป็นส่วนพิเศษ
- ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
เป็นการรวบรวมเรื่อง อิทัปปัจจยตา ในส่วนของปฏิจจสมุปบาทมาอย่างครบถ้วน เพียงพอที่จะศึกษาเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท อย่างชัดแจ้งถึงที่สุด ให้สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต" ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว นับเป็นการเห็นพระพุทธองค์ในภาษาธรรมซึ่งเกื้อกูลแก่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอย่างยิ่ง
ชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุ / หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ