อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เชื่อว่า หลายคนคงเคยเห็นกันแล้ว รูปปั้นของเหล่านักรบ ๕ เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจสนาม และพลเรือน ซึ่งหล่อด้วยทองแดงขนาด ๒ เท่าของ
คนธรรมดา จากฝีมือของศิลปินผู้ปั้น ที่เป็นกลุ่มลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และหนึ่งใน รูปปั้นของเหล่านักรบ คือ ทหารเรือที่อุ้มระเบิดอยู่ในวงแขนนั้น มีข้อมูลระบุว่า มีตัวตนจริง แม้เขาจะไม่ได้เสียชีวิตใน “ยุทธนาวีที่เกาะช้าง” ด้วย แต่วีรกรรมที่เขาสร้างไว้นั้นประทับใจคนที่ได้รับฟังเรื่องราวอย่างมาก และเมื่อมีเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมในเรือลำเดียวกัน นำมาเล่าให้นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดฟังพร้อมแสดงท่าประกอบ มีคนถ่ายรูปไว้เป็นจำนวนมาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเห็นภาพก็ประทับใจไปอีกคน และเอารูปถ่ายนี้เป็นต้นแบบปั้นรูปนี้ขึ้น
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไปเยี่ยมทหารเรือที่ต้องสละเรือในสงครามครั้งนี้ที่ท่าวรดิฐ และให้ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าเรื่องให้ฟัง ตอนหนึ่ง พลทหารสิงห์ นาคมี ที่อยู่ใน ร.ล.ธนบุรีจนนาทีสุดท้ายที่ได้รับคำสั่งให้สละเรือ ได้เล่าเรื่องของ พลทหารชุน แซ่ฉั่ว พลฯเตรียมกระสุนป้อมปืนท้ายของ ร.ล.ธนบุรี พร้อมแสดงท่าทางประกอบอย่างทะมัดทะแมง ทำให้มีคนชอบใจถ่ายรูปกันอย่างคึกคัก และเมื่อ อ.ศิลป์ พีระศรีเห็นภาพนี้ ก็นำไปเป็นแม่แบบปั้นขึ้นสำหรับ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
วีรกรรมของ พลทหารชุน แซ่ฉั่ว
เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาก เขามีหน้าที่ลำเลียงส่งกระสุนปืนใหญ่ส่งขึ้นป้อมปืน ถ้าขาดคนทำหน้าที่นี้เมื่อใด ป้อมปืนก็จะขาดกระสุน ทำให้เรือต้องตกเป็นเป้าให้ข้าศึกยิงเอาฝ่ายเดียว ขณะที่ลงไปลำเลียงกระสุนที่ห้องข้างล่างนั้น กระสุนของเรือรบฝรั่งเศสนัดหนึ่งทะลุเข้ามาระเบิดในเรือ สะเก็ดระเบิดได้ตัดแขนขวาใต้ศอกของพลทหารชุนห้อย หัวหน้าห้องสั่งให้รีบขึ้นไปห้องปฐมพยาบาล แต่พลทหารชุนไม่ยอมเสียเที่ยว ยังหอบกระสุนด้วยแขนซ้ายเพียงข้างเดียว ไต่บันไดเอากระสุนขึ้นไปส่งป้อมปืนด้วย เมื่อนายป้อมเห็นแขนห้อยรุ่งริ่งก็เกรงว่าจะทำให้ทหารในป้อมเสียขวัญ ไล่ให้หลบไปข้างล่างอีก พลทหารชุนก็ยอมลงมาแต่โดยดี ….แต่พอกลับลงมาห้องกระสุนก็พบว่าควันพิษจากระเบิดตลบไปทั้งห้องจนอยู่ไม่ได้ ต้องกลับขึ้นไปข้างบน แล้วก็ไม่ยอมเสียเที่ยวอีก อุตส่าห์ควานหาระเบิดติดมือขึ้นไปส่งให้ป้อมปืนด้วย จากนั้นก็ยังไม่ยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ป้อมปืนไม่ขาดกระสุนยิง จนเมื่อข้าศึกถอยไปแล้วจึงยอมไปห้องปฐมพยาบาลความทรหดและกล้าหาญของ พลทหารชุน แซ่ฉั่ว เป็นผลอย่างมากในชัยชนะของยุทธนาวีครั้งนี้ จึงได้รับเหรียญกล้าหาญ พร้อมประดับยศเป็น พันจ่าเอกชุน แซ่ฉั่วใน ร.ล.ธนบุรี ยังมีทหารเรือไทยที่ใช้แซ่อีกคนหนึ่ง ซึ่งได้สร้างวีรกรรมจนได้รับเหรียญกล้าหาญและได้ประดับยศพันจ่าเอกเช่นเดียวกับพันจ่าเอกชุน แซ่ฉั่ว ก็คือ พลทหารเอ่ง แซ่ลิ้ม มีหน้าที่ประจำอยู่ในหอบังคับการ คอยนำคำสั่งไปยังห้องเครื่องจักร เมื่อ ร.ล.ธนบุรีถูกยิงนัดแรก กระสุนได้ทะลุเข้าไประเบิดในหอบังคับการ ทำให้ นาวาเอกหลวงพร้อมวีรพันธ์ ผู้บังคับการและทหารอีกหลายคนในห้องนั้นเสียชีวิต ที่เหลือก็บาดเจ็บสาหัส พลทหารเอ่งถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ลำคอและนิ้วมือ แต่ยังวิ่งฝ่ากระสุนของข้าศึกที่ระดมยิงมา นำคำสั่งสุดท้ายของผู้บังคับการลงไปส่งที่ห้องเครื่องจักรได้ และยังลงไปช่วยถือท้ายเรือให้ต่อสู้ข้าศึกต่อไป ขณะนั้นห้องถือท้ายมีควันตลบและน้ำไหลเข้าเรือจนต้องยืนแช่น้ำถือท้าย พลทหารเอ่ง ก็ไม่ห่วงการบาดเจ็บของตัว และเมื่อขึ้นมาข้างบนก็ยังไปช่วยดับเพลิงจนได้รับบาดเจ็บครั้งที่ ๒ ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่หน้าแข้งและหัวเข่าจนกระดูกแตก ต้องตัดขาพิการไปตลอดชีวิต แต่เขาก็เป็นทหารไทยคนหนึ่งที่ได้รับการบันทึกวีรกรรมในสงครามอินโดจีน
ส่วนใน ร.ล.ชลบุรี ก็มีทหารไทยที่ใช้แซ่ สร้างวีรกรรมจนได้รับเหรียญกล้าหาญเช่นกัน คือ พลทหารป๋อไล้ แซ่เฮง ผู้รับหน้าที่เป็นเรดาร์ที่ยังไม่มีในเรือรบสมัยนั้น ต้องปีนขึ้นไปบนยอดกระโดงส่วยตาไปรอบทิศ เมื่อเห็นเครื่องบินข้าศึกโผล่พ้นทิวเขาที่ใช้เป็นฉากบังออกมา ก็จะเห็นเป็นคนแรก แล้วตะโกนลงมา ทำให้ปืนเรือยิงข้าศึกได้ก่อนจะเข้าถึงตัว ทั้งยังได้มีโอกาสรายงานอีกว่า มีเรือข้าศึกรุมเข้ามา ๓ ด้าน และเมื่อข้าศึกระดมยิงเข้ามา พลทหารป๋อไล้ ก็ยังรายงานอยู่บนยอดเสาท่ามกลางห่ากระสุน จนกระทั่งเสากระโดงเรือถูกยิงขาดกระจุย ล้มฟาดลงมาทับขายามเสากระโดงใจถึงจนขาดทั้ง ๒ ข้าง ส่วนตามตัวก็มีเลือดโชก แต่พลทหารป๋อไล้ ก็ไม่ได้ร้องครวญคราง กลับตะโกนปลอบใจเพื่อนทหารก่อนจะสิ้นใจด้วยคำเดียวกับที่หลวงพร้อมวีรพันธ์ ผู้บังคับการ ร.ล.ธนบุรีร้องบอกให้เริ่มถล่มเรือข้าศึกว่า “เอามัน เอามัน” พลทหารป๋อไล้ แซ่เฮง ได้รับเลื่อนเป็น พันจ่าเอกป๋อไล้ แซ่เฮง และได้รับการจารึกชื่อไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ
นี่ก็เป็นวีรกรรมของทหารไทย แม้จะมีเชื้อสายใดก็ตาม เมื่อเกิดในแผ่นดินไทย เขาก็เกิดและเติบโตมาด้วยความเป็นไทย มีความรักต่อประเทศและกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด เช่นเดียวกับคนที่มีสายเลือดไทยทั่วไป ไม่ใช่แค่อาศัยแผ่นดินเกิด
ภาพ/คำบรรยาย
เรื่องเก่า เล่าสนุก โดย:โรม บุนนาค
สั่งซื้อ หนังสือ ทางออนไลน์
UNKNOWN WARRIORS 333 มาจากชื่อหน่วยบังคับบัญชา ของทหารไทยในสงครามลาวครั้งนั้น คือ “กองบัญชาการ ผสม 333″ หรือเรียกย่อๆ ว่า “บก.ผสม 333″ ส่วนคําว่า “นิรนามในที่นี้หมายถึงสงครามในลาวเป็นสงครามลับ เพราะมีข้อตกลงเจนีวาระบุว่า ห้ามประเทศ อื่นใดเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของลาว