“สนิมจับอย่างนั้นใครจะถอดออก” .... “นี่…เขามีน้ำมันกัดสนิมนะ เอาน้ำมันนั่นมาหยอดสิ”
• ปลายปี 2500
เกิดข่าวใหญ่ มีคนร้าย 20 คน ลักลอบเข้าไปขุดกรุที่อยู่ใต้ปรางค์ประธาน ‘วัดราชบูรณะ’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วหอบเอาเครื่องทองและเพชรนิลจินดาจำนวนมหาศาลออกไปถึง 3 คืน ก็ยังขนไปไม่หมด ภายหลังตำรวจจับขโมยได้ เมื่อนำของกลางที่สามารถตามกลับมารวมกับสมบัติที่ยังเหลือในกรุแล้ว นับได้กว่า 2,000 รายการ นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์อีกแสนกว่าองค์ เมื่อรวมเฉพาะทองคำทั้งหมดพบว่ามีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม!! ในบรรดาสมบัติที่พบในกรุวัดราชบูรณะ มีโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งคือ ‘พระแสงขรรค์’ ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ เพราะทำจากวัสดุมีค่าหาได้ยาก มีความงดงามโดดเด่นทางด้านศิลปกรรม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งมีอยู่เพียงชิ้นเดียวในประเทศ
อ่านเพิ่มเติม : คลังสมบัติสมัยพะงั่ว..ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา
• 21 พฤศจิกายน 2500
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ณ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังทอดพระเนตรเสร็จ ได้เสด็จฯ ประทับ ณ พระราชวังโบราณอยุธยา เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันบนเสื่อจันทบูรใต้ร่มมะขามใหญ่อย่างเรียบง่าย วันนั้นมีประชาชนมามุงดูเพื่อเฝ้ารับเสด็จฯ ตรงอีกฟากหนึ่งของคูน้ำหนาแน่นผิดปกติ ระหว่างเสวยก็ทอดพระเนตรไปรอบ ๆ
ในหลวงรับสั่งว่า “เอ๊ะ! ทำไมคนมากมาย ? ”
นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร (ในขณะนั้น) กราบบังคมทูลว่า “ชาวบ้านเขามาชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาทรงถอดพระแสงขรรค์ที่ขุดได้จากวัดราชบูรณะ”
คือ พระแสงขรรค์เสียบอยู่ในฝัก ฝังอยู่ในกรุห้าร้อยกว่าปีจนสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าหน้าที่พยายามทำความสะอาดแล้ว แต่ก็ชักไม่ออก
พระองค์หยุดเสวยแล้วตรัสว่า “สนิมจับอย่างนั้นใครจะถอดออก”
“ชาวบ้านพูดกันเช่นนั้น จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ” พระองค์ประทับนิ่ง ก่อนรับสั่งว่า
“นี่…เขามีน้ำมันกัดสนิมนะ เอาน้ำมันนั่นมาหยอดสิ”
ด้วยกระแสพระราชดำรัสในวันนั้น นับเป็นแรงบันดาลใจกระตุ้นให้กรมศิลปากรเร่งศึกษาค้นคว้าดำเนินการอนุรักษ์พระแสงขรรค์องค์นั้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ไปศึกษาวิชาการซ่อมสงวนรักษาโบราณวัตถุจบกลับมาจากเบลเยียม และได้ใช้น้ำยาเคมีสมัยใหม่ช่วยให้สามารถชักออกจากฝักได้ในที่สุด
10 ปีผ่านไป .....
• 25 พฤษภาคม 2510
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาทรงเปิดอาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร แล้วเสด็จฯ ทอดพระเนตรไปเรื่อย ๆ จนถึงห้องจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอยุธยา พระแสงขรรค์องค์นั้นทอดไว้เหนือพาน ณ กลางห้องจัดแสดง
เมื่อทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถาม ...
“ใช่พระพุทธเจ้าข้า” นายธนิตกราบบังคมทูล
“แล้วเป็นยังไง ถอดได้ไหม?” แล้วท่านก็เสด็จฯ ตรงไปทรงถอดพระแสงขรรค์
แสดงว่าพระองค์ทรงสนพระทัยอย่างจริงจัง แม้เวลาจะผ่านไปถึงทศวรรษแล้ว ก็ไม่เคยทรงลืม...
.........
ที่มาเนื้อหา
อ้างอิง : จากข้อมูลทางวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณชน ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กรมศิลปากร
เรียบเรียง : โดย เพน
ที่มาภาพ
ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 : จากหนังสืองานโบราณคดีใต้ร่มพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2560
ภาพพระแสงขรรค์ : ถ่ายโดย เพน
Tweet