พระไภษัชยคุรุ เป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน หรือพุทธตันตระ ซึ่งมีผู้นิยมนับถือมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศจีนและธิเบต นับถือกันว่าทรงเป็น
“พระพุทธเจ้าแพทย์” ผู้ปัดเป่าโรคภัยร้าย เนื่องจากเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ และทรงตั้งปณิธานว่า เมื่อพระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณแล้ว เหล่าสัตว์ที่ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยใดๆหากได้ยินพระนามของพระองค์ จะพ้นจากโรคภัยทั้งหลายทั้งปวง มีร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยมีสติและปัญญา มีทรัพย์มหาศาล และจะบรรลุโพธิญาณในที่สุด
เชื่อกันว่า ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและทางใจ จะสามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่พระปฏิมาไภษัชยคุรุ การสวดพระธารณีหรือมนต์ประจำพระองค์ การออกพระนามและการตั้งจิตรำลึกแน่วแน่ในพระนามของพระองค์
พระปฏิมาไภษัชยคุรุ พระองค์นี้ มีขนาด ตักกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 62 เซนติเมตร หล่อด้วยสำริด สร้างขึ้นใน ศิลปะลพบุรี (ศิลปะแบบเขมรในประเทศไทย) เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 -18 ทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง สวมศิราภรณ์ทรงเทริด มีกระบังหน้าและยอดทรงกรวยแหลม ทรงกุณฑลรูปดอกบัว กรองศอ พาหุรัด (กำไลต้นแขน) ทองพระกรและทองพระบาท พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระขนงค่อนข้างตรง พระเนตรเปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แบะกว้าง แย้มพระสรวลโดยยกมุมพระโอษฐ์ขึ้นเล็กน้อย ทรงครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา แสดงโดยแนวขอบจีวรเฉวียงพาดผ่านพระอุระไปยังพระอังสาซ้าย และมีแถบสังฆาฏิปลายตัดตรงชายสั้นเหนือพระถันพาดอยู่บนพระอังสา โดยไม่แสดงลักษณะการห่มจีวรทับพระพาหาและพระกรเบื้องซ้าย แต่ทำเป็นช่องว่างระหว่างกรกับพระวรกายทั้งสองข้าง (เสมือนกับไม่ได้ครองจีวร)
อันเป็นลักษณะเฉพาะที่มักปรากฏอยู่เสมอในพระพุทธรูปแบบศิลปะลพบุรี พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระบาทขวาวางทับบนพระบาทซ้าย เหนือขนดนาค 3 ชั้น เศียรนาคทำแผ่พังพานปกรูปพระปฏิมา 7 เศียร พระหัตถ์วางซ้อนกันบนพระเพลาในลักษณะทำสมาธิ ในพระหัตถ์มีผอบบรรจุโอสถหรือน้ำอมฤต อันเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระปฏิมาไภษัชยคุรุ การทำพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุเป็นพระพุทธรูปนาคปรกเป็นความนิยมของเขมรที่นับถือนาคเป็นบรรพบุรุษ