ดังตัวอย่างภาพต่อไปนี้
หากย้อนกลับไปในยุคสมัยของ ท่านประธานาธิบดีรูสเวลต์ ในสมัยนั้น การแต่งกายของเด็กจะเน้นเสื้อผ้าสีกลางๆ นั่นคือ สีขาว และรูปแบบของชุดนั้น ไม่ว่าจะเป็น เด็กชาย หรือ เด็กหญิง การแต่งตัวจะเป็นลักษณะเดียวกัน คือชุดที่ 'เป็นกลาง' หรือเสื้อผ้าที่ไม่บ่งบอกเพศ (gender-neutral) จนเมื่อเด็กมีอายุ ๖ ขวบ จึงจะใส่แบบเสื้อผ้าตามเพศสภาพ เนื่องเพราะหลังจาก ๖ ขวบไปแล้ว เด็กจะเริ่มเติบโตขึ้นและรู้จักเพศของตน ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับสีผ้าอ้อมเด็กที่ใช้สีขาว และเนื้อผ้าก็นิยมผ้าฝ้าย เพราะซักและแห้งง่าย
สำหรับ เสื้อผ้าสีชมพู สีฟ้า รวมถึงสีในกลุ่มพาสเทล พึ่งจะมามีบทบาทต่อการตัดสินใจของพ่อแม่ในการเลือกซื้อเสื้อผ้าให้ลูกในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในเวลานั้นสีก็ยังไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่ใช้ในการระบุเพศของเด็ก จนกระทั่งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ สีเหล่านี้เริ่มมีบทบาทต่อการกำหนดเพศเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี ๑๙๑๘ สีชมพูได้ถูกกำหนดให้เป็นสีสำหรับเด็กผู้ชาย และ สีฟ้าเป็นสำหรับเด็กผู้หญิง ด้วยเหตุผลที่ว่า สีชมพู เป็นสีที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่า เหมาะสมกับเด็กผู้ชายมากกว่า ในขณะที่ สีฟ้านั้นบ่งบอกถึงบุคลิกอันละเอียดอ่อน มีความสวยและน่ารัก ซึ่งแน่นอนว่าเหมาะกับเด็กผู้หญิง
แล้วทำไม ? การกำหนดว่า สีชมพูควรเป็นสีสำหรับเด็กผู้หญิง และสีฟ้าเป็นสีของเด็กผู้ชายนั้นเริ่มเมื่อไหร่?
ในช่วงของยุคเบบี้บูม (ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1946-1964) หรือที่เรียกกันในปัจจุบันคน Gen B หรือราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น ได้นำพาเอาความคิดเรื่องเสื้อผ้า สี การกำหนดเพศของเด็กเข้ามาในรับรู้ของพ่อแม่ และสังคม โดยเด็กผู้ชายมักจะแต่งตัวเลียนแบบพ่อ ในขณะที่ตัวอย่างการแต่งตัวของแม่ เป็นต้นแบบให้กับเด็กผู้หญิง
จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อมี “ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี” ในช่วงปี ๑๙๖๐ การแต่งกายแบบกลางๆ หรือการแต่งได้ทั้งรูปแบบชายและหญิง (Unisex) ได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น จากเหตุการลวนลามทางสายตา รวมถึงการ ดูหมิ่นดูแคลนในความสตรีเพศ
ตั้งแต่ปี ๑๙๘๕ เป็นต้นมา กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้า รวมถึงผ้าอ้อม ได้เริ่มผลิตสีอื่นๆ นอกจากสีขาว เพื่อเป็นทางเลือก และเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย โดยการ เลือกสีชมพูและสีฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยมีเหตุผลที่สำคัญ คือ การที่พ่อแม่สามารถจะรู้เพศของลูกตนล่วงหน้าได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งนั้นและมีผลสืบเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแต่เสื้อผ้า หรือผ้าอ้อมเท่านั้น การกำหนดสียังมีผลต่อของเล่น ของใช้ และอุปกรณ์การเรียนรู้ของเด็กๆ อีกด้วย
ในยุคปัจจุบัน แม้สีจะยังคงมีบทบาทต่อการกำหนดเพศของเด็ก แต่ความเป็นกลาง คือ ทางเลือกสีอื่นๆ ก็นับได้ว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกสินค้าเพื่อลูก พ่อแม่ยุคปัจจุบันคำนึงถึง "ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย” ให้กับลูกมากกว่าอื่นใด
Jo B. Paoletti, Pink and Blue: Telling the Girls From the Boys in America
Smithsonian Magazine:
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-did-girls-start-wearing-pink-1370097/?no-ist=&fbclid=IwAR3aXC0p5DBF2Y7bVW_XARkoda7TFP3EVAZHiqVgYJF3Yvpf4zi-UIfHAlU