ประชาชนทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค
พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
บรรเทาได้ด้วยแนวทางเสมอภาค
ความเสมอภาค (Equity) แตกต่างกับความเท่าเทียม (Equality) เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่ากัน โดยความยากจนทำให้เด็กไทยราว 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ปัญหานี้สำคัญเกิดจากครอบครัวของเด็กต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า (ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ 2551-2559)
จากปัญหานี้ ความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจึงไม่อาจเพียงพอ เช่น นักเรียนที่มีฐานะแตกต่างกัน แต่ได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจำนวนเท่าๆกัน โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นที่แตกต่างกัน ขณะที่การช่วยเหลือตามหลักความเสมอภาคเป็นการให้ตามข้อมูลความจำเป็นสาเหตุความเหลื่อมล้ำยังสืบเนื่องจากความแตกต่างของคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม
ข้อมูลเพิ่มเติม