เฉลว กับ ความเชื่อในการรักษาแพทย์แผนไทย
เฉลว (ฉะ-เหลว) หรือตาเหลว (ภาษาถิ่นพายัพ)หรือ ฉลิว เป็นเครื่องหมายทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุมมีหลากมุม เช่น สามมุม ห้ามุม แปดมุม และสิบสองมุม
ในทางแพทย์แผนโบราณ จะใช้ เฉลว ปักไว้ที่ปากหม้อต้มยา
แม้ในกระทั่งปัจจุบัน เราก็ยังคงพบเห็นข่าวผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ที่อยู่ในระยะอันตราย กลับมาเป็นปกติ โดยอาศัยกำลังใจ หรือจิตใจที่แข็งแกร่งในการต่อสู้กับโรคร้ายเหล่านั้น
จากคำกล่าวข้างต้น การรักษาทางการแพทย์แผนไทยจึงมักมีการเสริมกำลังใจของผู้ป่วย โดยการนำเอา "ความเชื่อ" และสัญลักษณ์บางอย่าง มาผูกเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเชื่อว่า วิธีการรักษา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่นำมาประกอบการรักษานั้น ได้ผ่านพิธีกรรมบางอย่าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาให้หายจากอาการเจ็บไข้ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น “เฉลว”
คนเฒ่าคนแก่หลายท่าน ที่เคยกินยาหม้อ หรือเคยต้มยาหม้อ น่าจะคุ้นเคยกับสิ่งนี้ แต่สำหรับคนหนุ่มสาวในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้ว เชื่อว่าบางคนน่าจะไม่เคยเห็น หรือแม้แต่ได้ยินชื่อสิ่งนี้มาก่อน
วันนี้จึงจะขอมาเล่าเรื่อง “เฉลว” ให้อ่านกันครับ
“เฉลว” เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ใช้งานเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวไทยมาแต่โบราณ หรือใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกหรือสัญลักษณ์ การทำเฉลวนั้นจะใช้ตอกขัดสานกันเป็นมุมแฉก ๆ ลักษณะเหมือนตาชะลอมหรือเข่งปลาทู มีตั้งแต่ 3 แฉก 5 แฉก 6 แฉก 8 แฉก ไปจนถึง 12 แฉก แล้วเหลือปลายตอกข้างหนึ่งให้ยาวออกมาไว้สำหรับปักลงบนสิ่งที่ต้องการ
โดยจำนวนแฉกของเฉลวที่ต่างกัน จะมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น
- เฉลว 3 แฉก จะลงอักขระ มะ อะ อุ หมายถึง ขอให้อำนาจพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย หมายถึงขอให้อำนาจพระพุทธเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย ซึ่งเดิมเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
- เฉลว 5 แฉก จะลงอักขระพระเจ้า 5 พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ
- เฉลว 8 แฉก จะลงอักขระ อิ ติ ปิ โส แปดทิศทาง
คาถาที่ใช้เสกยา และปักเฉลวหม้อยา ว่าดังนี้ ...
สัพ พาสี วิสชาตีนัง ทิพพมนตาคนัง วิย ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปริสัสยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถ สัพพทา สัพพปาณินัง สัพพโสปิ นิวาเรติ ปริตตันตัม ภณา มเห
สัพ พาสี วิสชาตีนัง ทิพพมนตาคนัง วิย ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปริสัสยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถ สัพพทา สัพพปาณินัง สัพพโสปิ นิวาเรติ ปริตตันตัม ภณา มเห
สำหรับหน้าที่การใช้งานของเฉลวนั้น มีหลากหลาย เช่น การนำเฉลวปักลงบนหม้อยา เพื่อทำให้ยานั้นเป็นยาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ทำให้รักษาโรคภัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น หรือมิให้ภูติผีมาข้าม ซึ่งอีกนัยหนึ่งการปักเฉลวลงบนหม้อยานั้นก็เพื่อป้องกันมิให้มีคนมาเปิดหม้อยาจนทำให้ยาเสื่อมสภาพ ( เหมือนเป็นการ ซีลขวดผลิตภัณฑ์)
เฉลวที่ใช้กัน ไม่ได้ใช้เพียงแต่สำหรับปักปากหม้อต้มยา เท่านั้น แต่ยังมีความหมายใช้ในแง่อื่นได้อีก เช่น ใช้ในการปักลงที่ ๔ มุมของที่ดินที่ทำการจับจอง หรือปักไว้ที่ที่แสดงว่าเป็นบริเวณเขตหวงห้ามต่างๆ หรือบอกเตือนให้ระวังอันตราย หรือปักเมื่อทำขวัญข้าวเพื่อไม่ให้สิ่งชั่วร้ายมาทำอันตรายแม่โพสพอันจะส่งผลถึงความสมบูรณ์ของข้าวในนา เวลาคลอดลูกอยู่ไฟ ในสมัยโบราณก็มีการปักเฉลว เช่นกัน
ความหมายเกี่ยวกับพิธีการนี้จึงคล้ายๆ กับเป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ป้องกันการถูกกระทำด้วยภูตผีปีศาจโดยที่ เฉลว เป็นเครื่องหมาย หมายถึงยันต์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับยา โดยที่เฉลวเป็นเครื่อง หมายถึงยันต์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับยา
เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญลักษณ์ของหน่วยงานและสัญญลักษณ์ของ วิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย
เห็นไหมครับ เพียงตอกไม้ไผ่ธรรมดา พอนำมาสานให้เป็นหลาย ๆ แฉก ก็ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้น และอาจจะทำให้ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีจนกระทั่งช่วยให้หายป่วยได้รวดเร็วขึ้นได้
เรื่องการรักษาแพทย์แผนไทย ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจ หากท่านอยากรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย สามารถมาชมได้ที่โซนสยามรัฐเวชศาสตร์ ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น. (หยุดวันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
อ้างอิง
- Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช
- พิพิธเพลินใจ แทรเวล
- หนังสือ “สยามรัฐเวชศาสตร์”
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ sac.or.th (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
- บทความ “เฉลว” จาก thairath.co.th
- ภาพ About Time : PSUT FIRST DATE #10 at SU
- ภาพ PJ MooMoo
- เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย | https://www.pat.or.th/
ผู้สนับสนุน
- พิพิธเพลินใจ แทรเวล
- หนังสือ “สยามรัฐเวชศาสตร์”
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ sac.or.th (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
- บทความ “เฉลว” จาก thairath.co.th
- ภาพ About Time : PSUT FIRST DATE #10 at SU
- ภาพ PJ MooMoo
- เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย | https://www.pat.or.th/
Tweet