ช้างพลายสำคัญคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ถือกำเนิดในพื้นที่ของบริษัทบอร์เนียว ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
พระเศวตคชเดชน์ดิลก
ช้างคู่พระบารมีรัชกาลที่ 7
กำเนิดพระเศวตคชเดชน์ดิลก
ช้างทรง แห่งองค์พระมหากษัตริย์นั้น จะมีการเสาะแสวงหาและคัดเลือกช้างที่มีลักษณะเป็นมงคลตามตำราคชลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ช้างเผือก” ซึ่งถือว่าเป็นช้างที่เป็นมงคลยิ่งเกิดมาเป็นช้างคู่พระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจักรพรรดิเท่านั้น
ดังนั้นจะมีการประกอบพิธีรับและพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชเป็นพระ พระยา หรือเจ้าพระยาช้างต้น ด้วยเชื่อว่าช้างเผือกจะนำความเจริญรุ่งเรืองความสงบสุข และความอุดมสมบูรณ์มาสู่ราชอาณาจักรแห่งองค์พระมหากษัตริย์ เป็นอเนกอนันต์
ช้างพลายสำคัญคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ถือกำเนิดในพื้นที่ของ บริษัทบอร์เนียว ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นลูกช้างที่มีลักษณะกาย และนิสัยไม่เหมือนกับช้างอื่น ๆ มีผิวกายสีหม้อใหม่ ตาสีม่วง เพดานขาว อันทโกสขาว เล็บขาว ขนที่หัว และขนตามตัวสีเหลือง ขนหูขาว ขนหางสีเหลืองเจือดำ เมื่อมีอายุ 5 เดือน ลักษณะเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้น และด้วยนิสัยรักความสะอาด ช่างเล่น แต่มีมารยาทนุ่มนวลต่างกับจริตกิริยาของช้างธรรมดา ทำให้ลูกช้างดังกล่าวเป็นที่รักของเจ้าหน้าที่บริษัทบอร์เนียว และเด็ก ๆ
เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่ และนายดี เอฟ แมคไฟ ผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียว พร้อมทั้งประชาชนชาวเชียงใหม่จึงพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายลูกช้างเผือกนี้ ให้เป็นช้างคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบลักษณะแล้ว จึงทราบว่าเป็นพระเศวตกุญชร ตระกูลอัคนิพงศ์ * พระคชลักษณ์นามปทุมหัตถี (*ช้างเผือกตระกูลอัคนิพงศ์ มีกระอันเล็กเสมอและงาม มีตาดุจน้ำผึ้งรวง เส้นผมกลมและงาม มีพรรณละเอียดเกลี้ยง หูนั้นแดง หน้าแดง ปากแดง งาแดงรำไร มีประภาพดุจไฟป่า คชลักษณ์นามปทุมหัตถี มีพรรณลักษณะสมบูรณ์ สีตัวดุจสีบัวโรย รูปงามบริสุทธิ์ กล้าหาญ เป็นมงคล)
( พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระราชทานช้างสำคัญ และพระราชทาน ท่อนอ้อยแดงอันจารึกนามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลก แก่ช้างสำคัญรหัสเอกสาร ภ 003 หวญ 61/7 )
พิธีขึ้นระวางสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระเนตรช้างคู่พระบารมีที่เชิงดอยสุเทพ นครเชียงใหม่ ในคราวเสด็จฯ เลียบมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2469 มีเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนร่วมกันจัดพิธีสมโภชช้างดังกล่าว ณ สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยสร้างโรงช้างบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโรงเรียน ตั้งอยู่ด้านหน้าพลับพลาที่ประทับ ช้างสำคัญเชือกนี้เมื่อทำพิธีขึ้นระวางสมโภชในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต แล้วได้รับพระราชทานนามว่า “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” ซึ่งถือว่าเป็นช้างคู่พระบารมีในรัชกาลที่ 7 เพียงช้างเดียว และถือเป็นช้างสำคัญช้างแรกที่เดินทางโดยรถไฟจากนครเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯมีเรื่องเล่าว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2477 พระองค์เสด็จไปทรงประทับที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ประชวรอย่างต่อเนื่อง พระเศวตคชเดชน์ดิลก ซึ่งอยู่ในประเทศไทยก็เริ่มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่กินหญ้าไม่กินน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2484 อาการของพระเศวตคชเดชน์ดิลกก็ทรุดลง แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ จนถึง พ.ศ. 2486 พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างคู่พระบารมีในรัชกาลที่ 7 จึงล้มลง
พิธีรับและพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลกมีรายละเอียดตามเอกสารจดหมายเหตุ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชุดเอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 5/1 เรื่องช้างเผือกจังหวัดเชียงใหม่ (เปนพระเศวตคชเดชนดิลก) และภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 003 หวญ 61 เรื่องพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกในรัชกาลที่ 7 (เชียงใหม่ - กรุงเทพ)
ผู้เรียบเรียง บุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุเชี่ยวชาญ
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
fb : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
-------------------------------
อ้างอิง
สถาบันพระปกเกล้า. ภาพนิ่งจากฟิล์มภาพยนตร์รัชกาลที่ 7. มทท: 2547.
สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. ช้างไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2540.
เอนก นาวิกมูล. บางกอกกับหัวเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด, 2547.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 5/1 เรื่องช้างเผือกจังหวัดเชียงใหม่ (เปนพระเศวตคชเดชนดิลก) (4 ธ.ค. 2469 - 31 ก.ค. 2472).
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 003 หวญ 61 เรื่องพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกในรัชกาลที่ 7 (เชียงใหม่ - กรุงเทพฯ).