คำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า “ม้า” ส่วนคำว่า therapy แปลว่า “การบำบัด” เมื่อรวมแล้วเรียกว่า ม้าบำบัด หรือ อาชาบำบัด คือ การนำม้ามาช่วยในการบำบัด นั่นเอง
อาชาบำบัด หรือ การนำม้ามาช่วยในการบำบัด เรียกว่า Hippotherapy
มีผลงานวิจัย ที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของ อาชาบำบัด เป็นวิธีที่นำมาใช้ ในการบำบัดกับ เด็กออทิสติก และ เด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีพี (C.P. ย่อมาจาก Cerebral Palsy) ด้วยการที่เด็กหรือผู้ป่วย อยู่บนหลังม้าได้ จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า กล่าวคือ ขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และผู้ขี่จะต้องมีการใช้ สมาธิจดจ่ออยู่กับ การขี่ม้า สิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้น จากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ
จังหวะการก้าวย่างของม้า ใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง โดยมีม้าเป็นสื่อกลาง นอกจากนี้ การนั่งบนหลังม้ายังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับ อิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่งนอกจาก เด็กยังได้ฝึกฝนการปรับตัวของสภาพร่างกายให้เหมาะสม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการประคองตัวให้สามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้นั่นเอง โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเสมือนกลไกอัตโนมัติหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณ ความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามจะรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้านั่นเอง
อาชาบำบัด เป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่มีรายงานว่า เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านร่างกาย เช่น การทรงท่า การทรงตัว การเคลื่อนไหว และทางด้านจิตใจ ทำให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจในตนเองเพิ่มมากขึ้น กล้าที่จะเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ในเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวสามารถใช้ hippotherapy เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ในการรักษาเด็ก เนื่องจากกลไกการเดินของม้ามีลักษณะการเคลื่อนไหวเป็น ๓ มิติคล้ายคลึงกับแบบแผนการเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กนั่งบนหลังม้าจะต้องพยายามรักษาการทรงตัวบนหลังม้าขณะที่ม้าเดินจะมีการเคลื่อนไหว ที่ส่งไปให้ร่างกายของเด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวถ่ายเทน้ำหนักกลไกการตอบสนองของปฏิกิริยาการตั้งตัวตรงและรักษาสมดุล ( righting reaction and equilibrium reaction) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจังหวะการเดินของม้า
ดังนั้น การให้เด็กได้นั่งบนหลังม้า จะทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวใกล้เคียงปกติลดอาการเกร็งร่างกายมีการทำงานสมมาตรของ กล้ามเนื้อลำตัว และสะโพก ทำให้การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ดีขึ้น และมีผลต่อแบบแผนการเดินของเด็ก
สำหรับโครงการอาชาบำบัด สมาคมภริยาทหารเรือ มอบหมายให้ ชมรมภริยานาวิกโยธิน เป็นผู้ดูแล โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ กองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี นาวาโทหญิง สุชญา อุทธิเสน ตำแหน่ง พยาบาลฝ่ายบริการสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เบอร์โทรศัพท์ ๐๖๒ - ๕๖๑ - ๖๙๒๖ เป็นผู้ดูแลและคอยให้คำปรึกษา สำหรับผู้ที่จะนำเด็กพิเศษเข้ามารับการบำบัด
Tweet