วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมา ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย และความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรก เมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน
โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทิน กับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือน เข้าไปอีก 1 เดือนเป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี
ต่อมา ชาวอียิปต์ กรีกและชาวเซมิคิคได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนีย มาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราว เพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุงในปีหนึ่งมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วันเพิ่มขึ้นอีก 1 วันเป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า "อธิกสุรทิน"
เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทิน ก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาใน ปฏิทินยาว กว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของ ทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มี เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า
วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)
แต่ในปี พ.ศ.2125 วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม หรือ Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงมีการปรับปรุงแก้ไข หักลบวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วัน หลังจาก วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 ) ปฏิทินแบบใหม่จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา
สำหรับ กำหนดการเปลี่ยนแปลง วันปีใหม่ ของประเทศไทย
แต่เดิมไทยเราถือเอา วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหม์ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ หรือวันแรกที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนจากจักรราศึมีน ไปสู่จักรราศีเมษ
( เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สงกรานต์ แปลว่า การเคลื่อนย้าย )
การนับวันปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อน กันไปในแต่ละปี ดังนั้น ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย นับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปี เมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่า วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ปีต่อ ๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนแล้วก็ตาม) ดังนั้น จึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี
ครั้นถึงปี พ.ศ.2483 ในวันที่ 24 ธันวาคม คณะรัฐบาลในสมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันปีใหม่ตามสากลนิยมตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ สอดคล้อง กับบรรดา นานาอารยประเทศ ซึ่งนิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่กันทั่วโลก
Tweet