2/12/64

สิมอีสาน สิมน้ำ สิมบก

โบสถ์ ในภาษาอีสาน เรียกว่า สิม มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา แปลว่า เขต หลักเขตการทำสังฆกรรม สีมาที่ปักเขตโบสถ์ที่ทำพิธีสงฆ์ เรียกว่า พันธสีมา ส่วนสีมาที่สงฆ์ไม่ได้ปักเขต และมิได้กระทำพิธีกรรม เรียกว่า
อพันธสีมา โบสถ์มีใบเสมาเป็นสิ่งแสดงที่หมายนิมิตล้อมรอบตัวอาคาร 8 จุด เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมา 
 
สิมอีสาน
 
     เขตสังฆกรรม ภายในองค์พันธสีมา ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานสมมติแห่งความดีงามโดยเฉพาะ สิมอีสานแต่อดีตจะถือกันเคร่งครัดมากว่า สตรีจะล่วงล้ำเข้าไปในเขตนั้นมิได้ เป็น “ขะลำ”  ( ขะลำ,คะลำ : หมายถึง ผิดประเพณี,ผิดครรลองคลองธรรม )  เป็นสิ่งมิบังควร แม้ในเวลาบวชภิกษุสามเณร ที่กระทำกันใน สิม ตอนจะถวายบาตร จีวร จะต้องกระทำกันตรงบริเวณมุขที่ยื่นออกมา อันเป็นบริเวณภายนอกที่ปักใบเสมา  
  

 สิมในอีสานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สิมน้ำ และสิมบก 

 ตามคติเดิม การบวชต้องกระทำกันภายในสิม มีการขอพระราชทานกำหนดสถานที่นั้นเป็น วิสุงคามสีมาแล้วก่อสร้างสิม สถานที่นั้นจะใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมได้ถาวร สิมที่สมบูรณ์จะต้องมี พันธสีมา หากว่าไม่มี วิสุงคามสีมาถาวรตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็ต้องไปบวชในน้ำ   ใช้บริเวณที่เป็นน้ำประกอบพิธี โดยสร้างเป็นสิมแบบชั่วคราว หรือสร้างเป็นศาลากลางน้ำ เพราะถือว่าน้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์
 
  •  สิมน้ำ เป็นอาคารสร้างขึ้นชั่วคราวอยู่กลางน้ำ ตำแหน่งไม่ตายตัว สุดแล้วแต่หมู่บ้านนั้น ๆ จะมีแหล่งน้ำอยู่ที่ใด แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ใกล้กับบริเวณวัด ถ้าต้องการความบริสุทธิ์ของพื้นที่เป็นพิเศษ ตัวสิมจะต้องอยู่ห่างจากฝั่งชั่วระยะ วักน้ำสาดไม่ถึง มีสะพานทอดยาวเชื่อมต่อฝั่ง เวลาทำสังฆกรรมจะต้องชักสะพานออกไม่ให้สิ่งเชื่อมต่อระหว่างฝั่งกับตัวสิม 
    ลักษณะของสิมน้ำทั่วไป มีทั้งที่กั้นฝารอบและที่เปิดโล่งคล้ายศาลากลางน้ำ ส่วนใหญ่ไม่นิยมตีฝา หากมีการกั้นฝาจะใช้ไม้ตีซ้อนกันเป็นเกล็ดคล้ายกับฝาเรือนไม้กระดาน หลังคาแต่เดิมใช้กระเบื้องหรือที่เรียกว่า แป้นไม้ 
  • สิมบก เป็นอาคารสร้างในชุมชนตั้งมั่นเป็นแหล่งถาวร แบ่งออกเป็น 3ประเภท คือ
 
  1. สิมไม้ เข้าใจว่าเป็นการสืบทอดมาจากสิมน้ำที่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง รูปทรงกระทัดรัด ผนังทั้ง 4 ตีฝาไม้กระดานทั้งแนวนอนและแนวตั้ง สิมไม้พบมากในเขตอีสานใต้ คือ แถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี 
 
 2. สิมโถง เป็นอาคารรูปทรงโปร่งกระทัดรัด ประกอบด้วยเสาไม้หรือเสาอิฐตั้งอยู่บนฐานยกพื้นรองรับหลังคา ไม่กั้นฝา หากจะมีก็เฉพาะด้านหลังพระประธาน ยกพื้นสูงจากดินพอสมควร พื้นหัตถบาทเป็นอาณาบริเวณพื้นที่ภาคในทั้งหมดถือว่าเป็นเขตวิสุงคามสีมาเป็นเขตของสงฆ์โดยเฉพาะ 
 
 3. สิมก่อผนัง เป็นอาคารผนังทึบตันทั้งสี่ด้าน รูปผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐดิบหรืออิฐเผาฉาบปูน เจาะช่องหน้าต่างบนผนังเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ด้านหน้าเป็นประตูทางเข้า บานประตูทำด้วยไม้แกะสลักเป็นลวดลายเครือเถาหรือภาพเทวดา พื้นสิมไม่มีหัตถบาท เพราะบริเวณพื้นที่ทั้งหมดภายในสิมเป็นส่วนของสงฆ์โดยเฉพาะ ด้านหน้าประตูทางเข้ามีราวบันไดสองข้าง ก่ออิฐฉาบปูนทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ หลังคามุงด้วยแป้นไม้ สิมบางแห่งจะเห็นงานไม้แกะสลักฝีมือดีที่หน้าบันใต้หลังคา 
 
 
  
 
https://www.isangate.com/new/isan-land/32-art-culture/knowledge/527-sim-isan.html

https://www.facebook.com/ThaiStudiesCU/
 
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand