4/06/68

ดิรัจฉานวิชา คืออะไร ?

สาธุ โข สิปฺปกนฺนาม   อปิ ยาทิสกีทิสํ. ----   "... ศิลปะวิทยาการไม่ว่าจะเป็นแขนงใด ๆ  ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกเวลาและถูกวิธี  ย่อมสำเร็จประโยชน์ด้วยดีได้โดยแท้ ....  "  



คำว่า  “ดิรัจฉานวิชา” เขียนเป็นคำบาลี ได้ว่า “ติรจฺฉานวิชฺชา” อ่านว่า ติ-รัด-ฉา-นะ-วิด-ชา แปลตามศัพท์ว่า “วิชาที่ขวาง”  พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติรจฺฉานวิชฺชา” ว่า a low art, a pseudo-science ( วิชาที่ต่ำทราม, เดรัจฉานวิชา ) 





“ติรจฺฉานวิชฺชา”  ภาษาไทยเขียน “ดิรัจฉานวิชา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ 

หนังสือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน สุชีพ ปุญญานุภาพ จัดทำ ในหน้า ๒๙๑
มีคำสรุปความหมายของ “ดิรัจฉานวิชา” ไว้ดังนี้ -

     ในที่นี้  มีคำว่า ติรัจฉานวิชา อย่างพิสดาร ฝรั่งใช้คำว่า low art เมื่อพิจารณาตามศัพท์  “ติรัจฉาน” ซึ่งแปลว่า “ไปขวาง” ก็หมายความว่า  วิชาเหล่านี้ “ขวาง” หรือไม่เข้ากับความเป็นสมณะ มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น  ถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำที่ขวาง หรือ ขัดกับสมณสารูป. วิชาที่พระไม่ควรเกี่ยว  จึงจัดเป็นติรัจฉานวิชา   คือวิชาที่ขวาง หรือขัดกับความเป็นพระ.

   ***  ส่วนสัตว์ดิรัจฉานที่มีชื่ออย่างนั้น เพ่งกิริยาที่ไม่ได้ตั้งตัวตรงเดินไปอย่างคน แต่เอาตัวลง เอาศีรษะไปก่อน เมื่อไม่ได้ไปตรงชื่อว่าไปขวาง.


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ดิรัจฉานวิชา” ไว้ดังนี้ -

       ดิรัจฉานวิชา  : ความรู้ที่ขวางต่อทางพระนิพพาน เช่น รู้ในการทำเสน่ห์ , รู้เวทมนตร์ที่จะทำให้คนถึงวิบัติ, เป็นหมอผี ,หมอดู , หมองู , หมอยา ,ทำพิธีบวงสรวง ,บนบาน , แก้บน เป็นต้น

      เมื่อเรียนหรือใช้ปฏิบัติ ตนเองก็หลงเพลินหมกมุ่น และส่วนมาก  ทำให้ผู้คนลุ่มหลงงมงาย ไม่เป็นอันปฏิบัติกิจหน้าที่  หรือประกอบการตามเหตุผล โดยเฉพาะ  ตัวพระภิกษุ  ก็จะขวางกั้นขัดถ่วงตนเองให้ไม่มีกำลัง และเวลาที่จะบำเพ็ญสมณธรรม, การงดเว้นจากการเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา เป็นศีลของพระภิกษุตามหลักมหาศีล, ศีลนี้สำเร็จด้วยการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัยปิฎกข้อที่กำหนดแก่ภิกษุทั้งหลาย มิให้เรียน มิให้สอนดิรัจฉานวิชา และแก่ภิกษุณีทั้งหลายเช่นเดียวกัน.

ในพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๙-๒๕
แสดงรายวิชาของ “เดรัจฉานวิชา” ไว้อย่างละเอียด
ประมวลความได้รายวิชาบางส่วน
 เช่น -
  • วิชาบวงสรวงสังเวยและพิธีกรรมต่าง ๆ
  • วิชาปลุกเสก
  • วิชาหมอยา
  • วิชาหมอดูประเภทต่าง ๆ เช่น วิชาทายลักษณะคน ลักษณะสัตว์ และลักษณะสิ่งของว่าดีร้ายอย่างไร
  • วิชาให้ฤกษ์ยาตราทัพ
  • ดาราศาสตร์
  • โหราศาสตร์
  • ไสยศาสตร์ประเภทต่าง ๆ
  • วิชาทำนายดินฟ้าอากาศ
  • วิชาทรงเจ้าเข้าผี
https://84000.org/tipitaka/read/?9/19-25

      ควรสังเกตด้วยว่า “เดรัจฉานวิชา” ที่เกิดโทษสำหรับพระภิกษุ  ซึ่งท่านตำหนิไว้ เป็นระดับที่เรียนเพื่อประกอบอาชีพ หรือเรียนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หรือรับประโยชน์จากวิชาโดยตรง ...

???  มีคำถามฝากให้คิดว่า   ถ้าพระเรียนเดรัจฉานวิชาเพียงเพื่อสงเคราะห์ประชาชนโดยสุจริต และไม่รับผลประโยชน์ตอบแทนในทางใด ๆ อย่างเด็ดขาด จะเป็นอย่างไร ?


  • ข้าวสักคำ น้ำสักขวด ไม่รับเด็ดขาด  
  • จะถวายพระอื่น ๆ ในวัดหรือให้คนวัด ให้หมาแมวในวัด ก็ไม่ได้ด้วย ห้ามเด็ดขาด
  • จะทำบุญบริจาคอะไรให้วัดที่อยู่ ไม่ได้ ไม่รับทั้งนั้น อยากทำไปทำที่อื่น 
  • จะเลี่ยงไปให้ญาติโยมพี่น้องของพระ ก็ไม่ได้ด้วย ห้ามเด็ดขาด 
  • จะสนับสนุนพระรูปนั้น หรือพระอื่นๆ ในวัด  ให้ได้สมณศักดิ์ ได้ตำแหน่งนั่นนี่โน่น ไม่เอาทั้งสิ้น ไม่รับ ห้ามเด็ดขาด !!! 
หากว่า พระเรียน ดิรัจฉานวิชา  เพื่อสงเคราะห์ประชาชนจริง ๆ ไม่เอาอะไรทั้งหมดดังที่ว่ามานี้ จะเป็นอย่างไร ?

คงจะมีคนบอก โอยยยย !!!  พระแบบนั้นไม่มีหรอก ฝันไปเถอะ !!! 
นั่นไง ก็เพราะไม่มีนั่นสิ ไม่เรียน ไม่เอามาใช้เด็ดขาดไปเลยจึงดีที่สุด 

.........................................................
สาธุ โข สิปฺปกนฺนาม
อปิ ยาทิสกีทิสํ.
.
ศิลปะวิทยาการไม่ว่าจะเป็นแขนงใด ๆ
ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกเวลาและถูกวิธี
ย่อมสำเร็จประโยชน์ด้วยดีได้โดยแท้
.........................................................

ที่มา: สาลิตตกชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๐๗



พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘
๒๐:๓๒
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand