3/27/68

ความเฉลียวฉลาด (Intelligence) ตอนที่ 7 - สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความเฉลียวฉลาด

    ถึงตรงนี้ เรารู้แน่ๆแล้ว  ว่า ความเฉลียวฉลาดเป็นผลจากพันธุกรรม   ที่ส่งมาจากพ่อแม่ทำงานร่วมกับสิ่งแวดล้อม โดยที่ถึงแม้ว่าพันธุกรรมมีผลมาก แต่สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมดีงามก็จะช่วยให้ความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้นได้




       หากใครสงสัยข้อความในย่อหน้าที่แล้วว่า  จริงหรือไม่ ลองนึกถึงตัวเราเองก็ได้ว่า ระหว่างการที่ทำงานหรือเรียนร่วมกับเพื่อนที่เฉลียวฉลาด มีเป้าหมายที่ยากที่ท้าทาย และเพื่อนที่ไม่เฉลียวฉลาด มีเป้าหมายง่ายๆสบายๆ สิ่งแวดล้อมแบบไหนทำให้เราเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น


     หากตอบได้ และ/หรือ เข้าใจว่า แบบแรก ข้อความจากตรงนี้ไป จะมีประโยชน์ แต่หากตอบไม่ได้ ไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ แนะนำให้หยุดที่ตรงนี้จะได้ไม่เสียเวลา 

      จากตรงนี้ไป จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม  ที่เอื้อต่อความเฉลียวฉลาด ซึ่งก็คือ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้  ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์แทบทุกคน อาศัยและมีชีวิตอยู่ ในสิ่งแวดล้อมที่เหมือนๆ กัน คล้ายกัน ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ถึงกระนั้น มนุษย์บางคน  ก็สามารถเรียนรู้ได้ดีกว่า มนุษย์บางคน    เช่น สังเกตจนรู้ว่า ผลไม้  หรือเห็ดบางประเภท กินแล้วป่วยหรือตาย  ก็ไม่ไปกิน   หรือรู้ว่า หากต้องวิ่งหนีสัตว์นักล่า อย่างเช่น เสือ หรือสิงโต ไม่ต้องวิ่งเร็วกว่าสัตว์พวกนั้นก็ได้ แค่วิ่งเร็วกว่าเพื่อนคนข้างๆ  ก็รอดตายแล้ว เวลาที่ต้องออกไปในทุ่งโล่งก็จะอยู่ใกล้ๆกับคนที่วิ่งช้า เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต  ฯลฯ

ดังนั้น มนุษย์คนที่เรียนรู้ได้ดีก็จะสามารถมีชีวิตรอดได้นานกว่า สามารถมีลูกหลานมากกว่า คนที่เฟอะฟะกินไม่เลือก รึวิ่งช้าแต่ทะลึ่งไปอยู่กับเพื่อนๆที่วิ่งเร็ว

แต่ในยุคปัจจุบัน    สังคมมนุษย์ มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันมากมาย มีเมืองใหญ่ เมืองเล็ก ชนบท ในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็กก็ยังมีความหลากหลายย่อยยิบต่อไปอีกเช่น ใจกลางเมือง ย่านการค้า ย่านอุตสาหกรรม ชานเมือง ฯลฯ  ให้เราเลือกอยู่อาศัย หรือทำงานตามอัธยาศัย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด  ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมที่มีผลมากมายอะไรต่อความเฉลียวฉลาด เท่ากับสิ่งแวดล้อม  ที่จะกล่าวต่อไป เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในเมืองใหญ่ ในเมืองเล็ก หรือในชนบท เราก็ยังสามารถเรียนรู้ได้อย่างที่บรรพบุรุษ ในยุคดึกดำบรรพ์ได้เรียนรู้อย่างที่เกริ่นเอาไว้ด้านบน ....


สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน 

       คือ สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิด ความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ มีการทดสอบความรู้และความเฉลียวฉลาดตลอดเวลา ที่มีความชัดเจนว่า หากเรียนรู้แล้ว มีความเฉลียวฉลาดแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร อย่างไร  ต่อไป .... ไม่ว่าจะเป็น ที่บ้าน ที่โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ ที่ทำงาน สังคมเพื่อนฝูง ...

  • บ้าน  -   ครอบครัวที่พูดคุยกันในเรื่องต่างๆ  ของสมาชิกในครอบครัวว่า  ในแต่ละวัน ใครทำอะไรกันบ้าง มีและปัญหาอะไรอย่างไรบ้าง มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างดี ใครมีเป้าหมายอะไร ตอนนี้อยู่ใกล้หรือไกลจากเป้าหมายเหล่านั้นมากน้อยขนาดไหน กำลังทำอะไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ย่อมทำให้คนในบ้านในครอบครัวได้ช่วยกันฟัง ช่วยกันคิด ช่วยกันออกความเห็น ช่วยให้ลูกหลานได้เรียนรู้จากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ช่วยให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ความคิด ทัศนคติ โลกทัศน์ และพฤติกรรมของลูกหลาน ได้พัฒนาความเฉลียวฉลาดในการสื่อสารพูดคุย


  • โรงเรียนและสถานศึกษา - หลักสูตร การเรียนการสอน ครูอาจารย์ ผู้บริหาร ล้วนแต่มีผลโดยตรงอย่างมาก ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน การเรียนรู้ ต้องมีความสมดุล ระหว่างบางวิชาเช่น ภาษา สังคม ประวัติศาสตร์ เน้นความจำ ที่เสริมสร้างความเฉลียวฉลาด จากประสบการณ์และความจำ หรือ Crystalised Intelligence และบางวิชา ที่เน้นความเข้าใจ เน้นการแก้ปัญหา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่พัฒนาความเฉลียวฉลาดแบบสร้างสรรค์ หรือ Fluid Intelligence  และยังต้องมีการทดสอบประเมินผลการเรียน ประเมินระดับความเฉลียวฉลาด เพื่อให้สามารถจัดกลุ่มนักเรียนที่ใกล้เคียงกันให้เรียนด้วยกันได้ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนและการสอนของครูอาจารย์ ....

ตรงนี้   คือเหตุผลที่ผมมักจะมีความเห็นบ่อยๆ ว่า หากจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว อย่าเสียเวลาไปเรียนสายสังคม อย่างเช่น รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ เพราะจะเป็นการใช้เวลาสามสี่ปี เพื่อการเรียนรู้ด้านเดียว   คือด้านความจำ และประสบการณ์ แถมวิชาที่เรียนรู้  ก็ไม่สามารถนำไปใช้ทำมาหากินสร้างฐานะ สร้างความมั่นคง สร้างอนาคต ได้เหมือนกับการเรียนสาย STEM ที่จะทำให้คนเรียนได้พัฒนาความเฉลียวฉลาดแบบสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน

  • การทำงาน -  ความเป็นจริงของชีวิต คือ งานบางอย่างเป็นงานที่ทำซํ้าๆ  แทบจะไม่มีโอกาสให้ได้ฝึกแก้ปัญหา เช่น การเลือกชิ้นปลาในโรงงานปลากระป๋อง ทำความสะอาด ยามเฝ้าตึก ขับรถตู้ ขับแท๊กซี่    ขี่แกร๊บ ฯลฯ งานเหล่านี้ไม่ช่วย และ ไม่เอื่ออำนวย  ต่อการพัฒนาความเฉลียวฉลาดแต่อย่างใด  ....  ในขณะที่งานบางอย่างเช่น    ทำอาหาร/ขนม ,  ช่างสารพัด คอนเซียส (concierge) ของโรงแรม ไกด์ทัวร์ ฯลฯ    ต้องพบกับปัญหา ต้องหาทางแก้ไขปัญหาภายในข้อจำกัดที่มี แทบจะตลอดเวลา   ..... ****   ดังนั้น ผู้คนที่เลือกทำงานที่ต้องพบต้องแก้ปัญหามากกว่า จะมีโอกาสที่จะได้พัฒนาความเฉลียวฉลาดมากกว่า นอกจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไปหรือมีประสบการณ์ทำงานนานขึ้นมากขึ้น ความรู้ ความสามารถและศักยภาพ และที่สำคัญ ผลตอบแทน ก็จะเพิ่มตามด้วยเช่นกัน

  • เพื่อนฝูงและสังคม   - มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และคนเราไม่ได้เรียน หรือทำงานตลอดเวลา เรามีเวลาว่างที่จะเลือกทำอะไร กับใครก็ได้ และหากเราเลือกได้ถูก เลือกได้ดี เรายังสามารถใช้เวลานอกเหนือจากการเรียน การทำงานพัฒนาความเฉลียวฉลาดของเราไปพร้อมๆ  กับได้ทำในสิ่งที่ชอบ ที่มีประโยชน์กับตนเอง  (และสังคม)   ได้เช่นกัน  ...... ***  อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเราไม่ได้มีแค่เรื่องของความเฉลียวฉลาด ความรู้ ความสามารถ เท่านั้น   ดังนั้นบางคนอาจจะไม่ให้ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่า ความสบายใจ ความสุข จากการเข้าสังคม  และคบเพื่อนฝูง ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร หากไม่เข้าสังคมแบบที่ชวนกันไปสูบกัญชา กินเหล้าเมาเละเทะ ลงทุนในคริปโต และอะไรก็ตามที่บั่นทอน บ่อนทำลายคุณภาพชีวิตและอนาคต .....
จากตรงนี้ไป   จะเป็นการตอบคำถามยอดนิยม  ของคุณแม่คุณพ่อ  ที่อ่านเรื่องนี้แล้วถามว่า

"..... จะทำยังไงให้ลูกที่ยังเล็กๆ  เฉลียวฉลาดขึ้น ...."  ???  


อย่างแรก แนะให้กลับไปอ่านตอนที่ 3  ความเฉลียวฉลาดกับชีวิต อีกครั้งหนึ่ง  >> คลิ๊ก อ่านตอนที่ 3


อย่างต่อไป   ความเฉลียวฉลาดที่สำคัญมากๆ  อย่างหนึ่ง คือ Pattern Recognition Intelligence (PRI)   หรือความสามารถในการรับรู้  และมองเห็นรูปแบบ เข้าใจความเชื่อมโยงของเรื่องราวต่างๆ  และรู้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล  อย่างถูกต้อง   ....  เช่น   รู้ว่าการกิน  ทำให้อิ่มสบาย  รู้ว่าหากดื้อ หรือหากทำของพัง จะถูกทำโทษ รู้ว่าต้องไม่เอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ ในวัยเด็ก รู้ว่าคนเราต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง รู้ว่าหากทำผิดกฏหมายก็จะต้องรับโทษ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่  ***** ดังนั้น เมื่อลูกยังเด็กๆ พ่อแม่  ควรและต้องช่วยเขาพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ซึ่งทำได้ไม่ยากอะไรเลย เช่น

   เปิดเพลงเพราะๆ ให้ลูกฟังบ่อยๆ เขาจะพัฒนาการเชื่อมโยงของระดับเสียง (ตัวโน๊ต)  และทำนอง กับความไพเราะของดนตรี ....  

    ให้ลูกได้ดูรูปภาพที่เป็นลวดลายซํ้าๆ   เขาจะเชื่อมโยงได้ว่า   หากลายด้านบน  หรือด้านขวาเป็นแบบหนึ่ง แล้วลายด้านล่างหรือด้านขวาจะเป็นแบบไหน  ....

    เล่านิทานประกอบภาพให้ลูกฟัง เขาจะฝึกเชื่อมโยงคำต่างๆ  อย่าง หมา แมว ช้าง กับภาพที่เขาได้เห็น

    เมื่อลูกพูดได้ กระตุ้นให้เขาพูดมากขึ้น บ่อยขึ้น ด้วยการยิ้ม หัวเราะ เมื่อเขาพูดถูก และแก้ไขทันทีเมื่อพูดไม่ถูก 

    เมื่อลูกพูดเก่งแล้ว พยายามให้เขาพูดด้วยคำศัพท์ ที่มากขึ้น พูดยาวขึ้น ด้วยการสลับกันเล่าเรื่อง เล่านิทาน ...

    เมื่อลูกไปโรงเรียนแล้ว ให้เขาเล่าว่า  วันนี้เรียนอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ....

     เมื่อลูกบวกลบเลขเป็นแล้ว  เล่นตั้งคำถามเลขในใจง่ายๆบ่อยๆ เมื่อเขาตอบได้ถูกอย่างเร็วแล้ว ก็กระตุ้นให้เขาตั้งคำถามเองบ้าง  ....

ฯลฯ
บทความโดย : Sompob Pordi

ความเฉลียวฉลาด (Intelligence) รวมทุกตอน >> คลิ๊กที่นี่ ...

     ผมอยากฉลาด และชอบคนฉลาด ผมเชื่อว่า ความเฉลียวฉลาดและคนฉลาดมีประโยชน์มากกว่าโทษ และคือสิ่งที่นำพาให้มนุษยชาติมาถึงวันนี้ ผมก็เลยสนใจเรื่องความเฉลียวฉลาดของมนุษย์มาก มากพอที่จะตะลุยหาความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ใครที่สนใจ ที่มีเวลา โดยเฉพาะ คนที่ยังมีลูกหลานเล็กๆ ผมแนะนำสุดใจครับ เพราะจะเป็นประโยชน์แน่นอน

ความเฉลียวฉลาด (Intelligence) เป็นส่วนผสมทางชีววิทยา และประสบการณ์ชีวิต หากตั้งใจ หากทำเป็น สร้างเสริมได้ เพิ่มพูนได้ พัฒนาได้ .... และเมื่อเฉลียวฉลาดแล้ว โลกทัศน์จะต่างจากคนทั่วไป จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนกว่า จะเห็นโอกาส และจะมีทางเลือกมากกว่า และสามารถจะใช้โอกาสและทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และสังคม ได้แน่นอนครับ !!!


ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand