3/26/68

ความเฉลียวฉลาด (Intelligence) ตอนที่ 6 - สิ่งแวดล้อมกับความเฉลียวฉลาด

ถึงตอนนี้ ...  เราไม่มีอะไรสงสัยแล้วว่า พันธุกรรมหรือยีน จากพ่อแม่และบรรพบุรุษ  มีผลอย่างมากกับความเฉลียวฉลาดของลูกหลาน   จากตรงนี้ จะเล่าว่าสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อความเฉลียวฉลาด ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ ....   
" .. ยังไม่เคยมีใครสามารถพิสูจน์ในเชิงปริมาณได้ว่า ผลจากสิ่งแวดล้อมที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ? "




ก่อนอื่นเลย   ข้อเท็จจริงที่ทำให้เราแน่ใจ ร้อยเปอร์เซนต์ ว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความเฉลียวฉลาด คือ วิวัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งจะใช้คุณสมบัติทางกายภาพ ที่เข้าใจได้ง่ายๆ  คือ ขนาดของสมอง มาใช้อธิบาย ....  

       สมองของมนุษย์ โฮโม เซเปียน มีการเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมาก คือจากเดิมที่มีขนาดประมาณ 350 กรัมโดยเฉลี่ย เมื่อสองแสนปีที่แล้ว  ขยายมาเป็นประมาณ 1,350 กรัม  ในปัจจุบันนี้

     ... หากสิ่งแวดล้อมไม่มีผลใดๆ และขนาดสมองซึ่งมีส่วนกำหนดความเฉลียวฉลาดอย่างมากก็ควรจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากอย่างที่เรารู้   ควรจะไม่แตกต่างจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษ ไม่ต่างอะไรกับมือ เท้า แขนขา ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากอย่างสมองของเรา ....  

     ..  หากใครสงสัยว่า อะไร ..ทำให้ขนาดของสมองมนุษย์เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 4 เท่า  ....  นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้  ล้วนแต่ยกความดีความชอบให้กับ  "อาหาร หรือโภชนาการ" โดยเฉพาะ  ไขกระดูกสัตว์และเนื้อสุก  ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร   โดยเฉพาะโปรตีน และไขมัน 

( *** ใครสนใจรายละเอียดลองไปกูเกิลดูได้ว่า เนื้อ 100 กรัม และ ธัญพืช อย่างเช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว 100 กรัม มีสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน และไขมันที่เป็นส่วนสำคัญของสมองเราต่างกันมากน้อยแค่ไหน ...***) 

     เชื่อว่า  บรรพบุรุษของมนุษย์ที่มีขนาดสมองใหญ่กว่าคนอื่นๆ จะมีความเฉลียวฉลาดมากกว่า มีความสามารถในการหาอาหารมากกว่า มีสุขภาพที่ดีกว่า มีอายุยืนยาวกว่า และมีโอกาสแพร่พันธุ์มากกว่า

  ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์จึงค่อยๆมีขนาดสมองที่ใหญ่ขึ้น จนเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน


ตัดภาพ  มายุคปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการพัฒนาแบบทดสอบไอคิว เมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว จนถึงปี ค.ศ. 1994 นักวิจัยด้านจิตวิทยา เจมส์ ฟลินน์ (James Flynn) นำเอาข้อมูลค่าไอคิวของประชากรทั้งหมด มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ และพบว่า ไอคิว หรือความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ เพิ่มขึ้นมา โดยตลอด ซึ่งภายหลังมีการเรียก การที่ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาว่า ผลของฟลินน์ หรือ Flynn's Effect


ในปี  ค.ศ. 2013 เจมส์ ฟลินน์ ได้อธิบายขยายความว่า หากเรานำเอาแบบทดสอบไอคิวในปัจจุบัน ให้ ประชากรเมื่อ 70 ปีที่แล้วได้ลองทำ ค่าเฉลี่ยที่ได้ จะเป็นประมาณ 70 แทนที่จะเป็น 100 อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหมายความว่า มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ....

ในบางประเทศ พบว่าทุกๆ 10 ปี ค่าเฉลี่ยของไอคิวของประชากรจะอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 3 จุดหรือกล่าวได้ว่า ในระยะเวลาหนึ่งศตวรรษ  ประชากรของประเทศนั้น จะมีไอคิวเพิ่มขึ้นถึง 30 หรือมากถึง 2 standard deviations หรือจากระดับปกติ  กลายเป็นเฉลียวฉลาดมาก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ !!!  

อย่างไรก็ตาม งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา

     ในปี  ค.ศ. 1995 หรือเพียงแค่ 1 ปีหลังจากเจมส์ ฟลินน์ พบว่ามนุษย์ในปีนั้นเฉลียวฉลาดกว่ามนุษย์เมื่อร้อยปีที่แล้ว    นักวิจัยอีกคณะหนึ่ง  ก็ได้ค้นพบว่า

     "ความเฉลียวฉลาด หรือไอคิวของประชากรในประเทศอุตสาหกรรมอย่าง สหราชอาณาจักร และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย กลับลดลง"  ??!! 

     รายงานฉบับนี้ระบุว่า ปัจจัยทางสังคมในประเทศรํ่ารวยบางประเทศ  ทำให้การพัฒนาการ และระดับความเฉลียวฉลาดลดลง โดยปัจจัยทางสังคมที่ว่านี้ก็คือ วิดีโอเกมส์, เกมส์คอมพิวเตอร์ และ สมาร์ทโฟน (ปัจจุบันรวมเอาโซเชียลมีเดียเข้าไปด้วย) โดยที่  .....

   ในสหราชอาณาจักร หากนำเอาข้อสอบที่ 25% ของเด็กนักเรียนอายุ 14 ปี ที่เคยทำได้ใน ค.ศ. 1994  เด็กอายุ 14 ปีในปัจจุบัน จำนวนแค่ 5% เท่านั้นที่จะทำได้ และ

   ในประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ค่าเฉลี่ยไอคิวของประชากรลดลงปีละ 0.23 ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 และ

   เมื่อพิจารณาประชากรหนึ่งชั่วอายุคน หรือ 30 ปี  ฟินแลนด์มีค่าไอคิวลดลง 7.49 จุด เดนมาร์ก 6.48 จุด และนอร์เวย์ 6.50 จุด ส่วนในสวีเดน  ก็มีแนวโน้มเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน 

(( ****  ใครสนใจอ่านรายละเอียดของรายงานฉบับนี้ กูเกิลด้วยคำนี้ Does the rot start at the top? และอ่านได้เลยครับ  **** )) 


ถึงตรงนี้  ....  เรารู้แล้วว่า   "สิ่งแวดล้อม"  มีผลต่อความเฉลียวฉลาด ทำให้เพิ่มขึ้นก็ได้  และ ทำให้ลดลงก็ได้   แล้วสิ่งแวดล้อมอะไร ชนิดไหนที่มีผลบ้าง ?

ที่รวบรวมจากหลายๆ แหล่งมา สิ่งแวดล้อมเหล่านี้  ล้วนแต่มีผลต่อความเฉลียวฉลาดทั้งสิ้น

ครอบครัว
สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว
สุขภาพของคนในครอบครัว
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และ โภชนาการ
การเข้าเรียนในโรงเรียน
มลพิษต่างๆ
การใช้ยาเสพติดและเหล้า
ภาวะโรคภัยไข้เจ็บ



คงไม่ต้องอธิบายรายละเอียด   เพราะเราสามารถใช้สามัญสำนึก บอกได้อย่างไม่มีทางผิดเพี้ยนแน่นอนว่า อะไรมีผลอย่างไรบ้าง .... 


ถึงตรงนี้ (อีกครั้ง)   เรารู้แน่ๆแล้วว่า  ทั้ง "พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม" มีผลต่อความเฉลียวฉลาด .. พันธุกรรมเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้  อย่างน้อยก็ในปัจจุบันนี้  ส่วนสิ่งแวดล้อม เราสามารถเลือก เปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้เอื้อต่อการพัฒนาการของความเฉลียวฉลาดได้อย่างแน่นอน !!!  โดยเฉพาะกับเด็กๆ อย่างลูกหลานของเรา


ตอนต่อๆไป   จะมาเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความเฉลียวฉลาดละกัน  .....


บทความโดย : Sompob Pordi

      ....  ผมอยากฉลาด  และชอบคนฉลาด ผมเชื่อว่า   ความเฉลียวฉลาดและคนฉลาดมีประโยชน์มากกว่าโทษ  และคือสิ่งที่นำพาให้มนุษยชาติมาถึงวันนี้ ผมก็เลยสนใจเรื่องความเฉลียวฉลาดของมนุษย์มาก   มากพอที่จะตะลุยหาความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง 
     
     ใครที่สนใจ ที่มีเวลา โดยเฉพาะ คนที่ยังมีลูกหลานเล็กๆ ผมแนะนำสุดใจครับ เพราะจะเป็นประโยชน์แน่นอน 

     ความเฉลียวฉลาด (Intelligence) เป็นส่วนผสมทางชีววิทยา และประสบการณ์ชีวิต หากตั้งใจ หากทำเป็น สร้างเสริมได้ เพิ่มพูนได้ พัฒนาได้ ....  และเมื่อเฉลียวฉลาดแล้ว โลกทัศน์จะต่างจากคนทั่วไป จะเห็นสิ่งต่างๆ  ได้ชัดเจนกว่า  จะเห็นโอกาส  และจะมีทางเลือกมากกว่า และสามารถจะใช้โอกาสและทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และสังคม ได้แน่นอนครับ !!!  


ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand