3/30/67

อย่าใช้ภาษาธรรม กับเรื่องเลว ๆ ความหมายที่แท้ คำว่า "ร่วมสังฆกรรม"

       ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หนังสือพิมพ์ชื่อดัง ฉบับหนึ่ง เสนอข่าวอาชญากรรม โดยใช้ข้อความในข่าวว่า  “ชายโฉดร่วมสังฆกรรมข่มขืนหญิงสาว”  (( **ข้อความอาจไม่ตรงตามนี้ทุกตัวอักษร แต่ได้ความว่า การที่ผู้ชายหลายคนร่วมกันข่มขืนหญิงสาว ผู้เขียนข่าวใช้คำว่า “ร่วมสังฆกรรม” ))

Sangha karma

"ร่วมสังฆกรรม"
อย่าใช้ภาษาธรรมกับเรื่องเลว ๆ

       ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่งเสนอข่าวอาชญากรรม ใช้ข้อความในข่าวว่า “ชายโฉดร่วมสังฆกรรมข่มขืนหญิงสาว”

     ข้อความ  อาจไม่ตรงตามนี้ทุกตัวอักษร แต่ได้ความว่า การที่ผู้ชายหลายคนร่วมกันข่มขืนหญิงสาว ผู้เขียนข่าวใช้คำว่า “ร่วมสังฆกรรม”

กรณีนี้  มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เขียนจดหมายไปทักท้วงต่อว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นว่า ไม่ควรใช้ภาษาพระธรรมวินัยไปเรียกการกระทำที่เลวทรามเช่นนั้น ...



      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ร่วมสังฆกรรม” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า -

“ร่วมสังฆกรรม  : (คำกริยา) อาการที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน, (ภาษาปาก) ทำงานร่วมกัน เช่น ฉันเข้าร่วมสังฆกรรมกับเขา.”

ความหมายจริง ๆ ของคำว่า “ร่วมสังฆกรรม” คือ ...

     พระสงฆ์ ทำสังฆกรรมร่วมกัน  ส่วนที่ใช้เป็นภาษาปาก พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “ทำงานร่วมกัน” ...

     การที่ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง ไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นการ "ประพฤติชั่ว"  จึงไม่ตรงกับความหมายของ “ร่วมสังฆกรรม” ที่เป็นภาษาปาก...

ขยายความ :

คำว่า “สังฆกรรม” ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + กรรม

(๑)  “สังฆ” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” (หนังสือรุ่นเก่าสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) อ่านว่า สัง-คะ แปลตามศัพท์ว่า -
  • (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลัก ๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
  • (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

(๒)   “กรรม”  บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”

“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม

“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
สงฺฆ + กมฺม = สงฺฆกมฺม > สังฆกรรม แปลว่า “งานของสงฆ์”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“สังฆกรรม : (คำนาม) กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทำภายในสีมา เช่น การทำอุโบสถ การสวดพระปาติโมกข์. (ส. สํฆ + กรฺมนฺ; ป. สงฺฆกมฺม).

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สังฆกรรม” ไว้ดังนี้ -

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ

๑. อปโลกนกรรม (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ) กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ
๒. ญัตติกรรม (ยัด-ติ-กำ) กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา
๓. ญัตติทุติยกรรม (ยัด-ติ-ทุ-ติ-ยะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน
๔. ญัตติจตุตถกรรม (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

ดูรายการ ที่เรียกว่า “สังฆกรรม” แล้ว ถ้าพูดแบบเล่นสำนวน ก็พูดได้ว่า การข่มขืนผู้หญิงไม่มีอยู่ในรายการ “สังฆกรรม”

จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล และไม่เหมาะไม่ควร  ด้วยประการทั้งปวง  ที่จะเอาคำว่า “ร่วมสังฆกรรม” ไปใช้เรียกการข่มขืนผู้หญิง รวมทั้งการร่วมกันกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรอื่น ๆ ทั้งปวง


ขอให้สังเกตว่า สื่อฯ ที่ชอบเอาเรื่องทางศาสนามาล้อเลียนล้อเล่นนั้น จะกล้าทำเฉพาะกับพระพุทธศาสนา เท่านั้น กับศาสนาคริสต์-และโดยเฉพาะกับศาสนาอิสลามด้วยแล้ว สื่อฯ เหล่านี้ไม่กล้าแตะต้องเลย

ลักษณะแบบนี้ พูดตามภาษา “นักเลงปากท่อ” (ภูมิลำเนาของผู้เขียนบาลีวันละคำ) ต้องเรียกว่า “ไม่ใช่นักเลงจริง”
..............
ดูก่อนภราดา!
: เขาไม่ตอบโต้หลงคิดว่าเขากลัว
: ที่แท้เขารังเกียจคนนิสัยชั่วเหมือนเกลียด...อะไรดี


ความรู้เรื่องสังฆกรรม 
แม่แบบแห่งประชาธิปไตย 

      คำว่า “สังฆกรรม” เขียนแบบบาลี เป็น “สงฺฆกมฺม” อ่านว่า สัง-คะ-กำ-มะ แปลว่า “งานของสงฆ์”

   พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆกมฺม” ว่า an act or ceremony performed by a chapter of bhikkhus assembled in solemn conclave (สังฆกรรม, พิธีกรรมที่หมู่สงฆ์ทำในที่ประชุมสงฆ์)

“สงฺฆกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังฆกรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายของ “สังฆกรรม” ไว้ว่า -

สังฆกรรม : (คำนาม) กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทําภายในสีมา เช่น การทำอุโบสถ การสวดพระปาติโมกข์. (ส. สํฆ + กรฺมนฺ; ป. สงฺฆกมฺม).

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “สังฆกรรม” เป็นอังกฤษ ดังนี้ -

Saṅghakamma : an act or ceremony performed by a chapter of Buddhist monks assembled in solemn conclave; a formal act.


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สังฆกรรม” ไว้ดังนี้ -

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี ๔ คือ
๑. อปโลกนกรรม (อะ-ปะ-โล-กะ-นะ-กำ) กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ
๒. ญัตติกรรม (ยัด-ติ-กำ) กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา
๓. ญัตติทุติยกรรม (ยัด-ติ-ทุ-ติ-ยะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน
๔. ญัตติจตุตถกรรม (ยัด-ติ-จะ-ตุด-ถะ-กำ) กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต


มีคำที่ควรศึกษาให้เข้าใจต่อไปอีกหลายคำ เช่น - 
  • ตั้งญัตติ
  • สวดอนุสาวนา
  • ลงพรหมทัณฑ์
  • อุโบสถ
  • ปวารณา
  • สมมติสีมา
  • ให้ปริวาส
  • ให้มานัต
      นักเรียนบาลีท่านใด มีอุตสาหะ ช่วยหยิบคำเหล่านี้ไปเขียนอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย ๆ แล้วเผยแพร่ เช่นโพสต์ทางเฟซบุ๊กนี้ ทางไลน์ หรือทางช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ก็จะเป็นการเผยแผ่หลักวิชาทางพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาสืบต่อพระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง นี่คืองานโดยตรงของนักเรียนบาลี

      ในสังคมสงฆ์   -หรือที่ปัจจุบันนี้มีคำที่นิยมใช้กันว่า “สังฆะ”  -มีหลักอยู่ว่า เมื่ออยู่ร่วมกันและจะต้องทำกิจอย่างใด ๆ อันเกี่ยวด้วยหมู่คณะ

(๑) จะต้องพร้อมใจกันทำ
(๒) และตกลงใจทำกิจนั้นตามความเห็นชอบร่วมกัน
(๓) ไม่ทำกิจอันเกี่ยวกับส่วนรวมไปตามความเห็นหรือความชอบใจส่วนตัว
(๔) กิจใดกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้อย่างไร ต้องปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด


มีข้อควรสังเกตว่า   “สังฆกรรม”  ทุกประเภท หากเป็นกรณีที่ต้องขอมติจากที่ประชุม มตินั้นจะต้องเป็น “เอกฉันท์” หากมีเสียงคัดค้านหรือทักท้วงแม้เพียงเสียงเดียว จะต้องยกเลิกหรือต้องพิจารณาทบทวนกันใหม่ทันที

คำที่รู้จักกันว่า “เยภุยยสิกา” = ถือเสียงข้างมาก ใช้สำหรับกรณีระงับวิวาทาธิกรณ์เท่านั้น ไม่ใช้ในกรณีทำสังฆกรรม

“สังฆกรรม” ของสังฆะจึงนับได้ว่าเป็นแม่แบบของระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งยังมีธรรมาธิปไตยเป็นพื้นฐานรองรับอีกด้วย


พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗
๑๐:๑๔




ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand