12/11/64

ทำไมเรียก คนเก็บสตางค์บนรถเมล์ ว่า กระเป๋ารถเมล์

แก๊ป แก๊ป ค่าโดยสารด้วยครับ แก๊ป แก๊ป มีตั๋วหรือยังครับ เสียงเหล่านี้คงได้ยินชินหูบนรถเมล์ ขสมก.ในชีวิตประจำวันของชาว กทม.ที่อาศัยรถเมล์เป็น

พาหนะในการเดินทางไปประกอบสัมมาชีพ และผู้ที่ทำให้เกิดเสียงดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือ พนักงานเก็บค่า หรือที่เรามักจะเรียกตามๆกันมาว่า "กระเป๋ารถเมล์" โดยสารนั่นเอง

 


ทำไมเราจึงเรียก คนเก็บสตางค์บนรถเมล์ ว่า กระเป๋ารถเมล์ ทั้งที่อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเงินนั้นเป็นกระบอกตั๋ว ไม่ใช่กระเป๋า เคยสงสัยกันไหมครับ ถ้าอยากรู้ลองอ่านดูครับ

เมื่อมานั่งพิจารณาทบทวนดูว่า "กระบอกตั๋ว" ที่พนักงานถืออยู่ในมือ ควบคู่กันไปกับการเก็บค่าโดยสารมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เดิมทีเดียวการเก็บค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วเริ่มมาจาก เรือเมล์ ก่อน เพราะเรือเมล์เกิดขึ้นและมีมาก่อนรถเมล์ เนื่องจากสมัยก่อนจะนิยมเดินทางด้วยเรือมากกว่า ตั๋วที่ใช้กับ เรือเมล์ นั้นจะเป็นชนิด "ตั๋วพับ" แบบซ้อนกันเป็นพับๆ จึงนิยมเรียกว่า "ตั๋วพับ" มีลักษณะเป็นแถว แถวละ 5 ใบพันซ้อนกัน การใช้จะใช้มือฉีก (เล็บฉีก) สมัยก่อนพนักงานผู้เก็บค่าโดยสารจึงนิยมไว้เล็บกันยาวพอสมควร เพื่อสะดวกในการฉีกตั๋ว ลักษณะตั๋วมีสีต่างตามชนิดราคา เช่น 5 สต. 10 สต. 15 สต. เป็นต้น ตั๋วพับหนึ่งปึกหนึ่งจะมี 100 ใบ 500 ใบ วิธีใช้จะใช้ผ้าหนาๆ เย็นเป็นเข็มกลัดรัดตั๋วไว้เป็นพับๆ ยามประมาณ 5-6 นิ้ว กว้าง1นิ้วพอดีเท่ากับตั๋ว (ซึ่งลักษณะเป็นเล่มยาวๆแบบตั๋วคูปองนักเรียนแต่จะยาวกว่า) โดยจะใช้ฉีกตั๋วเป็นใบๆให้แก่ผู้โดยสาร

    
ต่อมาในราวปี พ.ศ.2461 บริษัทนายเลิศ ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถเมล์ในกรุงเทพเป็นครั้งแรก ได้นำตั๋วพับของเรือเมล์มาใช้กับรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศเป็นครั้งแรก ซึ่งโรงพิมพ์ตั๋วรถเมล์ดูเหมือนจะมีไม่มากในสมัยนั้น เช่น ที่โรงพิมพ์รวมช่าง อยู่แถวตลาดน้อย หรือที่ร้านศิริวิทย์ ย่านบางลำพู เป็นต้น

  อ่านบทความ "รถเมล์สาย 8 ในวันวาน" 

     
ต่อเมื่อเพื่อสะดวกในการเก็บค่าโดยสารได้รวดเร็วขึ้น บริษัทนายเลิศ ได้เปลี่ยนตั๋วพับมาเป็นตั๋วม้วนพร้อมกับนำกระบอกตั๋วมาใช้ควบคู่กันเป็นบริษัทแรก กระบอกตั๋วสมัยก่อนทำด้วยโลหะทองเหลือง ยาวประมาณ 1 ฟุต มีขนาดเดียว ทำเป็นช่องๆ 4-5ช่อง โดยมีตั๋วสำรองเก็บไว้ในแต่ละช่อง เพื่อเตรียมพร้อมตั๋วมีแต่ละขนาดราคา กระบอกตั๋วนี้จะใช้เก็บตั๋วอย่างเดียว ไม่ใช้เก็บเศษเหรียญหรือค่าโดยสารอย่างปัจจุบัน ซึ่ง พกส.จะมีกระเป๋าสะพายไว้เก็บเงินโดยเฉพาะ (เป็นลักษณะคล้ายกระเป๋าสุภาพสตรี แต่ใบจะเล็กกว่ามีสายสะพายยาวไว้คล้องช่วงคอและบ่า)

     
ในระยะหลังต่อมาพิจารณาเห็นว่า กระเป๋าสายสะพายเกะกะไม่สะดวกต่อการใช้ เพราะต้องเบียดเสียดกับผู้โดยสารจึงไม่คล่องตัวเท่าที่ควร จึงหันมานิยมใช้เศษเหรียญเก็บในช่องกระบอกตั๋วแทน โดยทำเป็นช่องใหญ่กว่าเก็บตั๋วธรรมดา กระบอกตั๋วจึงมีลักษณะความยาวแตกต่างกันตามแต่ละบริษัท เพราะบางบริษัทมีตั๋วราคาเดียว หรือ 2-3ราคา ตามความเหมาะสม แต่ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ชนิด คือชนิดสั้น ชนิดกลาง และชนิดยาว และต่อมาได้เปลี่ยนชนิดทำด้วยโลหะทองเหลืองมาเป็นทำด้วย โลหะสังกะสีตะกั่ว ซึ่งแหล่งจำหน่ายกระบอกตั๋วมีอยู่ตามย่านตลาดใหญ่ๆ เช่น แถวเฉลิมกรุง ย่านบางลำพู เป็นต้น

 

 

    จากนั้นได้วิวัฒนาการดัดแปลงกระบอกตั๋วมาเป็นแบบ สแตนเลส ตามความนิยมแทน ทั้งนี้ เพื่อคงทนถาวรและสวยงาม ปัจจุบันหาซื้อได้ตามแหล่งตลาดใหญ่ๆ ในราคา 150-200 บาทตามแต่ลักษณะสั้นยาว

    กระบอกตั๋ว นับว่ามีความสำคัญต่อ อาชีพกระเป๋ารถเมล์อย่างยิ่ง จะเรียกว่า "กระบอกตั๋วคู่ชีพ พกส." ก็เห็นจะไม่ผิด เพราะก่อนจะขึ้นมาเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารนั้น ทุกคนจะต้องมี "กระบอกตั๋ว" ติดตัวเตรียมพร้อมเสมอ มิฉะนั้น จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถอย่างเด็ดขาด ดังนั้น เสียงแก๊ปๆ... ที่ได้ยินได้ฟังนั้น แม้อาจจะทำให้เป็นที่น่ารำคาญบ้างก็ตาม...แต่คุณค่าของมันนั้นนับว่าสำคัญไม่น้อย เพราะวันหนึ่งๆ สามารถหารายได้เข้าองค์การฯ วันละ 14-15 ล้านบาททีเดียว และทำให้องค์การฯยืนหยัดมาได้ถึง ปัจจุบัน

     สรุป ก็คือว่าการเรียกคนเก็บสตางค์รถเมล์ว่า กระเป๋ารถเมล์ ทั้งที่อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเงินนั้นเป็นกระบอกตั๋ว ไม่ใช่กระเป๋า ก็เพราะว่า ในสมัยก่อนคนเก็บสตางค์จะมีกระเป๋าหนังใบใหญ่คล้องไหล่ไว้ใส่เงิน กระเป๋านี้แหละที่ทำให้เราเรียกพนักงานเก็บค่าโดยสารว่ากระเป๋ารถเมล์มาจนบัดนี้


บทความโดย เจาะเวลาหาอดีต 7 กันยายน 2020

 

วันเวลาเปลี่ยนไป  ระบบการชำระเงินค่าโดยสาร ก็จะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว กระบอกตั๋วที่เราได้เคยเห็นกันเป็นประจำ วันหนึ่งก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา  หากใครเป็นนักสะสม สามารถหาซื้อมาเก็บไว้ เล่าต่อให้ลูกให้หลานฟัง ได้ครับ   เท่าที่หาแหล่งจำหน่ายก็มีที่ครับ คลิ๊ก >>> https://bit.ly/cylinderticket

 


ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand