3/12/68

คำว่า การเลี่ยงบาลี คือการกระทำอะไร ?

 คำว่า “บาลี” แปลตามศัพท์ว่า  ๑ “ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้”  ๒ “ภาษาที่รักษาเนื้อความในศัพท์บาลีที่กล่าวถึงปริยัติธรรมไว้”   ๓ “ภาษาที่เปรียบเหมือนเขื่อนใหญ่ที่มั่นคงของบึงใหญ่เพื่อรักษาน้ำภายในไว้”   ๔ “ถ่องแถวแห่งวจนประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่”




“บาลี” ในภาษาไทยมีความหมาย ๒ อย่าง ตามที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ ดังนี้ -


(๑) “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ

(๒) พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก;
ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี” ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ (๑) ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลี หรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ (๒) ให้ใช้คำว่า พระบาลี


สรุปสั้น ๆ

“บาลี” หมายถึง language ชนิดหนึ่งก็ได้   = ภาษาบาลี
“บาลี” หมายถึง doctrine ของพระพุทธเจ้าก็ได้ = พระบาลี

“บาลี” ตามความหมายที่ ๒ คือ doctrine หรือหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก  - นี่เองที่หมายถึงในคำว่า “เลี่ยงบาลี”

“พระบาลี” หรือพระธรรมวินัยที่ชาวพุทธนับถือปฏิบัติสืบกันมา ในส่วนที่เป็นพระวินัยอันภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม ภิกษุบางรูปที่ไม่มีความละอาย หาทาง “เลี่ยง” คือไม่ละเมิดตรง ๆ แต่ใช้เลศทางอ้อมทำให้เห็นว่าไม่ผิด หรือแม้ทำผิดจริงก็หาทางแก้ตัวไปต่าง ๆ ว่าที่ทำเช่นนั้นไม่ผิด

ตัวอย่างพอให้เข้าใจง่าย เช่น -

... " ภิกษุประสงค์จะดื่มสุรา เอาสุราใส่ในเภสัชบางชนิดที่เข้าสุราเป็นกระสาย แต่ใส่มากกว่าปกติ ...เมื่อฉันเภสัชนั้น ก็อ้างว่าตน ฉันเภสัช  ไม่ได้ฉันสุรา ?! " 

... "  มีสิกขาบท บัญญัติว่า  ภิกษุฉันอาหารหลังเที่ยงวันเป็นอาบัติ (มีความผิด) ภิกษุรูปหนึ่ง เอาข้าวสุกผสมน้ำปั่นจนเป็นน้ำแล้วดื่ม อ้างว่าตนไม่ได้ฉันอาหาร แต่ดื่มน้ำปานะ  ..." 

อย่างนี้แหละคือ “เลี่ยงบาลี”


“เลี่ยงบาลี” จึงหมายถึง หาวิธีทำผิดโดยไม่ให้จับได้ว่าผิดตรง ๆ หรือทำผิดแล้วหาข้อแก้ตัวเพื่อให้เห็นว่าไม่ผิด




เลี่ยงบาลีได้
แต่... เลี่ยงนรกไม่ได้


พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
๑๑:๑๓
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand