1/14/66

ซอสามสาย เครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดปราน

   ซอสามสาย เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย มีสามสาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ไทยเรามีใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ธนิต อยู่โพธิ์กล่าวไว้ในหนังสือ “เครื่องดนตรีไทย” ว่า “ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก แต่นิยมกันว่าไพเราะและสอดประสานเข้ากับเสียงของนักร้องได้สนิทสนมเป็นอันดี หาเสียงของเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ยาก”

ซอสามสาย เครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดปราน

      ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรี ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ )   ทรงโปรดปรานมาก และเนื่องจากกะโหลกซอต้องใช้กะลามะพร้าว เป็นปุ่มสามเส้า ซึ่งมีรูปลักษณะเป็นพิเศษ และเป็นของที่หายาก เตุเพราะมิได้มีอยู่ทั่วไปทุกสวนมะพร้าว   จึงมีเรื่องเล่ากันว่า ในรัชสมัยของพระองค์นั้น หากทรงทราบว่า สวนของผู้ใดมีกะลามะพร้าวชนิดที่ใช้ทำกะโหลกซอสามสายได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน ตราภูมิคุ้มห้าม* แก่เจ้าของสวน มิให้ต้องเสียภาษีอากร

     ส่วนพระองค์เอง ก็ทรงชำนิชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นอย่างยอดเยี่ยม ถึงกับทรงสร้างซอสามสาย ขึ้นไว้เป็นคู่พระหัตถ์ และมีอยู่คันหนึ่งโปรดพระราชทานนามว่า ..   “ซอสายฟ้าฟาด”  เล่ากันว่า  ในเวลาว่างจากพระราชกิจ ในตอนกลางคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มักจะโปรดทรงซอสามสาย ถ้าไม่ร่วมวงก็มักจะทรงเดี่ยวด้วยพระองค์เอง 

      ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงนุ่มนวล น่าฟัง จึงเหมาะในการทำหน้าที่คลอเสียงร้องของนักร้อง แต่เมื่อถึงเวลาบรรเลง ก็จะบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นด้วย ในการบรรเลงร่วมกับวงนั้น นิยมบรรเลงแบบทางหวาน ๆ เรียบ ๆ มากกว่าทางเก็บขยี้


(จากหนังสือ ดุริยางคศิลป์ไทย ของ อรวรรณบรรจงศิลปะและคณะ. 2546)
(ภาพจาก วิกิภาษาไทย)
เรียบเรียงโดย : สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university
(เกร็ดความรู้เรื่องไทยศึกษา)


* ความรู้เพิ่มเติม 

ตราภูมิคุ้มห้าม คืออะไร ?  
     
      คำว่า ตราภูมิ เป็นโบราณศัพท์ และเป็นคำนาม หมายถึง หนังสือประจำตัวสำหรับคุ้มค่าน้ำค่าตลาดสมพัตสรได้เพียงราคา ๑ ตำลึง มักใช้เข้าคู่กับคำ คุ้มห้าม เป็น ตราภูมิคุ้มห้าม  

     คำว่า คุ้มห้าม นิยามไว้ว่า เป็นคำกริยา หมายถึง ยกเว้นจากความต้องห้ามและภาษีอากรโดยมีหนังสือเป็นตราภูมิ และอธิบายตรงกันว่า มักใช้เข้าคู่กับคำ ตราภูมิ เป็น ตราภูมิคุ้มห้าม

     คณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน มีความเห็นว่า คำ ตราภูมิ และ คุ้มห้าม เป็นคำเดียวกัน มิใช่คำที่แยกใช้ จึงได้แก้ไขให้เก็บคำ ตราภูมิคุ้มห้าม ซึ่งเป็นคำเต็มเพียงคำเดียว และปรับปรุงบทนิยาม ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนี้

     ตราภูมิคุ้มห้าม เป็นโบราณศัพท์ และเป็นคำนาม หมายถึง หนังสือราชการประจำตัวไพร่หลวงสำหรับบางหมู่บางพวก เดิมเพื่อได้รับการลดหย่อนภาษีอากรต่าง ๆ หรือได้รับยกเว้นการเกณฑ์แรงงานตามที่กำหนดให้ ต่อมาเหลือเพียงการลดหย่อนภาษีอากร



 
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand