1/23/65

กำเนิดคำว่า "ไชโย" มาจากไหน ? chaiyo

คำว่า ชโย ไชโย นอกจากจะเปล่งเพื่อแสดงความยินดีแล้ว ยังใช้ลงท้ายคำประพันธ์ เช่น วรรคท้ายของเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีว่า “ดุจถวายชัย ชโย” และวรรคท้ายของเนื้อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ว่า “ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย”

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกของกองเสือป่า

จุดกำเนิด การใช้คำว่า ไชโย ในการกล่าว ‘อวยชัยอวยพร’

  • ในระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม – ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงนำ เสือป่ากองพลหลวงรักษาพระองค์ และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เดินทางไกล จากพระราชวังสนามจันทร์ ไปทำพิธีบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์พระนเรศวร ที่ริมหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี

    ในการนั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทรงเริ่มธรรมเนียมประชุมสวดมนต์เย็นขึ้นเป็นครั้งแรก ในระหว่างประทับแรมที่กำแพงแสน เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยได้เสด็จลงที่หน้าพลับพลาเวลา ๒ ทุ่มครึ่ง ทรงนำสวดมนต์ เริ่มด้วย  “อรหัง สัมมา ฯลฯ  แล้วสวดอิติปิโส กับคำนมัสการคุณานุคุณ คำไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ร้องสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรยาวตำนับเป็นจบการนมัสการ

    แต่โดยที่บทร้องสรรเสริญพระบารมีนั้นต่างเหล่าต่างมีคำร้องต่าง ๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งคำสุดท้ายที่ส่งว่า “ฉนี้” มักจะร้องเพี้ยนเป็น “ชนี” จนยากที่แก้ให้หายได้ นอกจากแปลงคำเสียใหม่

     รุ่งขึ้น... วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทร้องสรรเสริญพระบารมี เป็นดังนี้

“ฃ้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาลบุณอะดิเรก เอกบรมจักริน พระสยามินทร์พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเปนศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย ดุจะถวายไชย ชะโย ฯ”

    เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ ๒๘  มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖  แล้ว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จประทับบนเกย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและทหารกับตำรวจภูธรที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้น เดินแถวถวายตัว ทรงประน้ำมนต์ให้ และเมื่อเดินผ่านที่ประทับนั้นต่างคนร้อง ไชโย เป็นคำอวยชัย

นับจากนั้นมาจึงนิยมกล่าวคำอวยชัยว่า “ไชโย ไชโย ไชโย” แทนการโห่แล้วรับฮิ้วสามลาดังที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ



ที่มา: วชิราวุธวิทยาลัย

คัดลอกจากเรียบเรียงโดย : fb/สีน้ำเงินเข้ม  

ภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกของกองเสือป่า 

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกของกองเสือป่า
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

 
miscthailand